สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

 

"พระกริ่งหนึ่งงามเด่นตาหาใครเท่า  ตำราเก่าพิธีทำกำหนดให้

'พรหมนี นามพระกริ่งมิ่งขวัญชัย     สังฆราชแพ ผู้สร้างไว้ได้สืบมา

เป็นกริ่งในเพชรน้ำเอกภิเษกสุด     ตกทอดชุดตามฤกษ์สร้างกระจ่า

กำลังวันอันวิสุทธิ์ด้วยพุทธา          ชื่อลือหล้าด้วยฤทธาพุทธาคม

เนื้อในนั้นสีนากสุกด้วยปลุกเสก     กระแสแดงลงเลขยันต์ประสานสม

องค์กลับดำดั่งนิลสรงลงอาคม       คาถาถมเนื้อชั้นหนึ่งแสนซึ้งใจ

เทเป็นองค์เบ้ากระดกให้ปกเกศ      กันอาเพศเหตุร้ายใดไม่กรายใกล้

สิริเกษมสุขสวัสดิ์พิพัฒน์ภัย           โภคทรัพย์สินทั้งหลายให้เพิ่มพลัน

หายากนักพรหมมุนีที่ถี่ถ้วน            สมบูรณ์ล้วนอาจารย์หนูครูแต่งสรรค์

จึงงามงดสดไสวพิไลพรรณ           รวิวรรณสุขสว่างกระจ่างใจ"

พระกริ่ง วัดสุทัศน์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทวะ)เป็นผู้สร้างโดยมีอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร (อ.หนู) ตบแต่งองค์ ปฐมเหตุที่ทรงสร้างพระกริ่ง วัดสุทัศน์นั้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ทรงเคยรักษาผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคให้หายได้ด้วยการอาราธนาพระกริ่งลงในนํ้าทำเป็นนํ้าพระพุทธมนต์ แล้วโปรดให้นํ้านั้นแก่ผู้ป่วยดื่มปรากฏว่าหายอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อตรัสอย่างนั้นแล้วก็อาราธนาพระกริ่งลงในนํ้าทำนํ้าพระพุทธมนต์ประทานแก่สมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันนํ้าพระพุทธมนต์นั้นแล้วก็บรรเทา หายอาพาธเป็นปกติ     

                          

“พระกริ่งพรหมมุนี” สร้างในปีพ.ศ.2459 ขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระพรหมมุนี” มีพระชนมายุครบ 5 รอบ (60 พรรษา) คณะศิษย์ถือเป็นโอกาสดีเป็นมิ่งมงคลที่จะจัดงานฉลองถวาย และทูลขออนุญาตหล่อพระกริ่งจำนวน 61 องค์ มากกว่าพระชนมายุ 1 ปี) ในแวดวงนักสะสมพระกริ่งมักเรียกกันว่า “รุ่นศิษย์ถวายสำรับ” จะมีพุทธลักษณะแบบ “พระกริ่งใหญ่ของประเทศจีน” ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกทื่ใช้พิมพ์กริ่งใหญ่ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งจะมีความสูงประมาณ 3.9 เซนติเมตร ความกว้างของฐาน 2.7 เซนติเมตร ใต้ฐานมีลักษณะเว้าเล็กน้อย พระกรรณยาวพาดถึงพระอังสา พระหัตถ์ซ้ายถือวชิระ พระหัตถ์ขวาพาดพระชานุ เนื้อขององค์พระเป็นเนื้อ “สัมฤทธิ์เดช” เนื้อในจะเป็นสีนากแก่ เมื่อเริ่มกลับกระแสเนื้อจะออกเป็นสีขาว คล้ายเงินแล้วกลับลงเป็นสีดำสนิท มีพรายเป็นจุดขาวคล้ายเงินแทรกเงินอยู่ในเนื้อ ทั้งนี้เพราะทรงผสมแร่ธาตุตามตำรา อีกทั้งนำชนวนโลหะของเดิมมาผสมด้วยเป็นจำนวนมาก เติมทองแดงบริสุทธิ์ เงิน และทองคำ จึงทำให้พระกริ่งรุ่นนี้มีกระแสดำสนิท

จุดสังเกตและตำหนิพระกริ่งพรหมมุนี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม มีดังต่อไปนี้

1. เม็ดพระศก บัว และสร้อยประคำ ใช้วิธีกดหุ่นในเทียนแล้วนำมาแต่ง ภายนอกอีกครั้งหนึ่ง                                                                       

2. ด้านข้างปรากฎร่องรอยการประกบแม่พิมพ์                                    

3. ด้านหลังองค์พระมีคราบเขม่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคล้ายควันธูป                  

4. ที่ด้านหลังขององค์พระกริ่งมีรอยตะปูยึดหุ่นเทียน                                       

5. ใต้ฐานองค์พระ (ก้น) มีร่องรอยของการแต่งตะไบ

ส่วนพุทธคุณนั้น ทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศด้านโภคทรัพย์และปกปองภัยอันตราย เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาทั้งสิ้นครับผม