ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“ชีวิตไทย” ในสังคมไทยโดยรวม ก็คือ ความรักในอิสระและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ในส่วนตัวของคนไทยแต่ละคน ก็คือ ความเมตตากรุณาและความนอบน้อมถ่อมตน
ปีนี้ (พ.ศ. 2568) เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพิธีสถาปนากระทำขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ด้วยการลงนามในพิธีสาร ระหว่าง นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย จากนั้นในวันรุ่งขึ้น 2 กรกฎาคม 2518 นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ก็ได้ไปพบและคุยกับประธานเหมาเจ๋อตุง ประมุขของจีน
ช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก ๆ ครั้งหนึ่งของโลก ที่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ของการเมืองระหว่างประเทศ นั่นก็คือเป็นจุดเริ่มต้นของการผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็น อันเป็นการสู้รบกันระหว่างประเทศในค่ายประชาธิปไตย ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และไทยก็อยู่ในฝ่ายนี้ กับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีจีนกับรัสเซียเป็นแกนนำ โดยมีประเทศที่อยู่ติดกันกับไทย คือ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เป็นบริวารของค่ายนี้ ซึ่งผลจากการที่ไทยไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีน ได้ทำให้ภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวหยุดชะงัก และต่อมาก็ได้มารวมเป็นเครือพันธมิตรอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” สร้างความมั่นคงและเกิดการพัฒนาไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจนถึงทุกวันนี้
นักการทูตของไทยและจีนให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คือบุคคลที่มีความโดดเด่นที่สุดในการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในครั้งนั้น โดยในรายละเอียดได้กล่าวถึงการตัดสินใจที่ “กล้าหาญ ฉับไว และเฉลียวฉลาด” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่กล้าชี้นำนายทหารในกองทัพไทยที่มีอำนาจสูงสุดในทางพฤตินัยในการเมืองการปกครองไทยมาแต่ไหนแต่ไร พร้อมการระดมผู้คนเข้าประสานงานให้มีการเดินทางไปประเทศจีนได้ภายในเวลาไม่กี่สิบวัน และเมื่อเดินทางไปถึงจีนก็ได้ใช้ “ความเป็นไทย” โน้มน้าวผู้นำจีนให้เกิดความประทับใจ สร้างสัมพันธ์ที่มีความสวยงามและแข็งแกร่งแนบแน่นมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียนนำเสนอบทความนี้เพื่อร่วม “เฉลิมฉลอง” วาระอันมีคุณค่าและสำคัญยิ่งของไทยกับจีน ที่พัฒนามาจนถึง 50 ปีดังกล่าว โดยจะขอเล่าถึง “บรรยากาศ” จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และผู้ร่วมเดินทางบางท่านใน พ.ศ. 2518 และจากความจำของตัวผู้เขียนเอง ที่ร่วมเดินทางไปจีนกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใน พ.ศ. 2528 ในโอกาส “ครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์ไทยจีน” เพื่อให้เห็นภาพว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้ “ความเป็นคนไทย” เอาชนะใจผู้นำของจีนได้อย่างไร จากนั้นจึงจะเข้าเรื่องของการใช้ชีวิตอย่าง “คนไทย” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ผู้เขียนได้ “ร่วมประสบการณ์” อยู่ช่วงหนึ่ง โดยตั้งใจว่าจะร่วมเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่นี้ไปจนตลอดปี 2568 นี้
ประเทศไทยไปใน พ.ศ. 2518 มีวิกฤติที่ต้องเผชิญอยู่หลายอย่าง เพราะเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติการเมืองในประเทศมาเมื่อ พ.ศ. 2516 นั่นก็คือเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 มีคนล้มตายนับร้อย ผู้คนแตกแยกวุ่นวาย รวมถึงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ก่อตัวรุนแรงอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ พอมาถึงเดือนธันวาคม 2517 คอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือก็ยึดเวียดนามใต้ได้ ไม่นานในตอนต้นปี 2518 ลาวและกัมพูชาก็ได้ถูกคอมมิวนิสต์ยึดครอง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2518 จึงอยู่ท่ามกลาง “ภัยวิบัติ” รอบด้านทั้งในและนอกประเทศ
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงเหตุการณ์ในการเดินทางไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนใน พ.ศ. 2518 ไว้อย่างตื่นเต้นในสไตล์ของท่านว่า “ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรี เวียดนาม ลาว และเขมร ถูกคอมมิวนิสต์ยึดครองไปหมดแล้ว ผมเป็นนายกฯในปลายเดือนมีนาคม พอต้นเดือนเมษายน ฝ่ายความมั่นคงก็มีประชุมเรื่องนี้ รายงานผมว่าคอมมิวนิสต์มาประชิดติดชายแดนตะวันออกของไทยแล้ว ผมถามท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดว่า ทหารไทยจะรับหน้าข้าศึกนี้ได้กี่วัน กว่าที่คอมมิวนิสต์จะบุกถึงกรุงเทพฯ ก็ได้รับคำตอบว่า 3 วัน ผมนี้ช็อคเลย พอประชุมเสร็จผมก็เรียกคุณชาติชาย(พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในตอนนั้น)มาคุย พูดขึ้นดัง ๆ ว่า เฮ้ย พี่ชาติเราต้องไปเมืองจีนกันแล้ว”
พอมีคำสั่งเรื่องการเดินทางไปเมืองจีนแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายทหารได้แสดงการต่อต้านออกมาในทันที แต่ก็ทัดทานอะไรไม่ได้ อีกทั้งด้วยความทุ่มเทของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่นำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ได้มีการประสานงานและจัดเตรียมการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เพียงสองเดือนเศษคณะของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ออกเดินทางไปจีนในตอนปลายเดือนมิถุนายนในปีเดียวกันนั้น นายสละ ลิขิตกุล คอลัมนิสต์อาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ร่วมเดินทางไปด้วย ได้พูดถึงบรรยากาศในครั้งนั้นว่า
“เป็นการต้อนรับชนิดยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ กล่าวได้ว่าจีนไม่เคยจัดการต้อนรับเช่นนี้ แก่บุคคลใดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศมหาอำนาจ หรือมุขบุรุษของประเทศใด ๆ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ ให้ได้เข้าพบท่านเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มีอำนาจสูงสุดซึ่งใช้เวลาพบปะสนทนากันนานเป็นประวัติการณ์ ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่เคยให้โอกาสผู้ใดเข้าพบได้นานถึงขนาดนั้น
คือเป็นเวลาถึง 58 นาที และได้สนทนากันอย่างเป็นกันเอง ชนิดที่เรียกว่า ถึงใจพระเดชพระคุณ เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังได้พบปะวิสาสะกัน โจวเอินไห นายกรัฐมนตรีของประเทศจีน ได้รับการสรรเสริญยกย่องจาก เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในประเทศจีน ทั้งยังได้พบปะกับนักการเมืองระดับสูง ของรัฐสภาแห่งชาติอีกด้วย ... (ต่อไปนี้คือส่วนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้นายลิขิตฟัง)
ท่านประธานเหมานั่งเต็มเก้าอี้แบบคนใหญ่คนโต ไอ้ผมมันเด็กนี่ ก็ต้องนั่งขอบเก้าอี้ ผมไม่ได้นั่งเต็มเก้าอี้ และไขว่ขา หรือไขว่ห้างคุยกับท่าน อย่างคนประเทศอื่น ๆ เขาปฏิบัติและชอบทำ ผมนั่งเอาก้นแตะเก้าอี้ แล้วก็ประสานมือแบบเคารพ หรือจะว่าแบบเล่าปี่ไปหาขงเบ้งนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าท่านพอใจมากทีเดียว แล้วท่านก็เริ่มพูดขึ้นก่อน คือท่านชมผมว่า ที่ลื้อไปให้สัมภาษณ์ไว้ที่ฮ่องกง ก่อนมาถึงปักกิ่งนั้นถูกต้องแล้ว ท่านเห็นด้วย ท่านก็บอกกับผมว่า ให้สัมภาษณ์ไว้ดีมาก พูดเก่ง แล้วก็คุยกันเรื่อยไป แล้วต่อจากนั้นผมก็บรรยายความว่า ผมมาประเทศจีนด้วยความสมัครรักใคร่ อยากผูกสัมพันธไมตรี ประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นมิตรไมตรีกันมาช้านาน เป็นเวลาหลายพันปี มีเหตุการณ์บางอย่าง ทำให้ไมตรีสะดุดหยุดลง บัดนี้ผมจะมาขอเริ่มใหม่ อะไร ๆ ก็ว่ากันไปตามอย่างนั้นแหละครับ
คุยกันอย่างผู้ใหญ่ ที่เห็นเราเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลาน จนในที่สุดดูนาฬิกาเกือบจะครบชั่วโมง ผมรู้สึกว่าท่านจะเพลีย ๆ พอดีผมเหลียวไปมองทางเติ้งเสี่ยวผิง ที่นั่งอยู่ห่าง ๆ เขาก็เข้าใจและรู้ใจผม เขาก็เลยรีบไปเอาของขวัญ ที่ผมนำไป เพื่อจะมอบให้แก่ท่าน มายื่นให้ผม เพื่อที่จะมอบให้แก่ท่าน มอบของให้ท่านแล้วก็ร่ำลาออกมา” (ยังมีรายละเอียดที่นายลิขิตเขียนไว้อีกมาก ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐภายหลังการเดินทางในครั้งนั้น)
ตรงคำพูดที่ผู้เขียนเน้นตัวหนาไว้ ที่ว่า “ผมนั่งเอาก้นแตะเก้าอี้ แล้วก็ประสานมือแบบเคารพ หรือจะว่าแบบเล่าปี่ไปหาขงเบ้งนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าท่านพอใจมากทีเดียว” และ “คุยกันอย่างผู้ใหญ่ ที่เห็นเราเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลาน” คือ “ความเป็นไทย” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้ “มัดใจ” เหมาเจ๋อตุง ทำให้ประสบความสำเร็จด้วยดีในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในครั้งนั้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2528 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้รับเทียบเชิญจากรัฐบาลจีนให้เดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อร่วมรำลึกครบ 10 ปีการฟื้นฟูสัมพันธ์ไทยจีน ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางไปด้วย ในฐานะเลขานุการประจำตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ได้เห็นกับตาตัวเองว่า คนจีนและรัฐบาลจีนนั้น “รักและนับถือ” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพียงไร ซึ่งพอผู้เขียนถามท่านว่าเป็นเพราะอะไร
ท่านก็ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ฉันเป็นคนไทยยังไงเล่า”