กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เพจ กู้เงินด่วน กับสินเชื่อกรุงไทย เปิดช่องทางให้กู้เงิน ไม่มีมัดจำ และมีรีวิวจริง” รองลงมาคือเรื่อง “ธ.ก.ส. เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ชื่อ ธกส” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ-แชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสูญเสียทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 20-26 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,680 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 566 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 544 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ ช่องทาง Website จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 228 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 76 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง เพจ กู้เงินด่วน กับสินเชื่อกรุงไทย เปิดช่องทางให้กู้เงิน ไม่มีมัดจำ และมีรีวิวจริง
อันดับที่ 2 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ชื่อ ธกส
อันดับที่ 3 : เรื่อง ปปง. เปิด TikTok รับเเจ้งเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์
อันดับที่ 4 : เรื่อง ธ.ก.ส. จับมือ ออมสิน ออก 3 สินเชื่อแก้หนี้นอกระบบ ปล่อยกู้ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.75%
อันดับที่ 5 : เรื่อง ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok baacbank
อันดับที่ 6 : เรื่อง กระทรวงการคลังเปิดให้ยืมเงิน สูงสุดรายละ 50,000 บาท
อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครคนพับถุงหรือแพ็กถุงจำนวนมาก ผ่านเพจสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ
อันดับที่ 8 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดโครงการลุยแก้หนี้นอกระบบ อนุมัติทันที วงเงิน 50,000 บ. ผ่านบัญชี Tiktok scbblankth1
อันดับที่ 9 : เรื่อง ธ.ออมสิน ติดต่อแจ้งลูกค้าถูกแอบอ้างเปิดบัญชี
อันดับที่ 10 : เรื่อง รับสมัครพนักงานเสริม บริษัท งานฝีมือ จำกัด พับถุงกระดาษ รายได้ 1,200-2,200 บาทต่อวัน
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ โครงการสินเชื่อของหน่วยงานรัฐ และช่องทางเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความสับสน ทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เพจ กู้เงินด่วน กับสินเชื่อกรุงไทย เปิดช่องทางให้กู้เงิน ไม่มีมัดจำ และมีรีวิวจริง” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊ก กู้เงินด่วน กับสินเชื่อกรุงไทย ไม่ใช่บัญชีทางการของธ.กรุงไทย และธ.กรุงไทยไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อผ่านเพจดังกล่าวทั้งสิ้น โดยเพจทางการของธนาคารกรุงไทยมีชื่อว่า Krungthai Care (https://www.facebook.com/krungthaibank) และมีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้าอยู่หลังชื่อเพจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูลและไม่ควรกดลิงก์แปลก น่าสงสัยที่ส่งโดยไม่ทราบที่มา ซึ่งประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากธ.กรุงไทย ได้ที่ www.krungthai.com และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ Krungthai Contact Center 02-111-1111 หรือแจ้งผ่าน Facebook : Krungthai Care
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com