"10 วันอันตราย" วันที่ 2 "ศปถ." เผยเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม 269 ครั้ง ดับ 38 ราย ขณะที่ "เมาแล้วขับ" 2 วันสะสม 1,599 คดี กรมคุมประพฤติ บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ติดกำไล EM เมาขับ 4 ราย

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.67 ที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่  2568 และแถลงข้อมูลช่วง ​10 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ถึง 5 ม.ค. 2568 วันที่ 2 (28 ธ.ค.) ว่า เกิดอุบัติเหตุ 269 ครั้ง ซึ่งลดลง ร้อยละ 31.2 จากปีก่อน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 38 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.63 ผู้บาดเจ็บจำนวน 257 คน ลดลงร้อยละ 36.54 รวมเสียชีวิตวันแรก 52 ราย เป็น 2 วัน เสียชีวิต 90 ศพ โดยจังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด พระนครศรีอยุธยา เชียงราย จำนวน 13 ครั้ง รองลงมาคือ กระบี่ 11 ครั้ง ประจวบคีรีขันธ์ 10 ครั้ง

ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือพังงา และหนองบัวลำภู จำนวน 3 ราย รองลงมา คือ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ นครราชสีมา ปทุมธานีพระนครศรีอยุธยา ศรีสะเกษ สระบุรี และเพชรบุรี จำนวน 2 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือ เชียงราย จำนวน 13 คน รองลงมา คือ กระบี่ 12 คน และพระนครศรีอยุธยา 11 คน

สาเหตุของอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นมากที่สุด มีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายร้อยละ 38.29 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.4 จำนวน 234 คัน ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 18.01 ถึง 21.00 ร้อยละ 21.56 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ประสบเหตุสูงสุด ได้แก่ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยร้อยละ 66.44 ประเภทถนนลักษณะจุดเกิดเหตุ ประเภทถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.98 ลักษณะถนนทางตรงร้อยละ 86.25 เพศชาย ประสบอุบัติเหตุสูงสุดที่ร้อยละ 67.46 ส่วนช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เด็กและเยาวชน 0 ถึง 24 ปีร้อยละ 29 ส่วนอายุ 40 - 79 ร้อยละ 15.93 ส่วนจำนวนอุบัติเหตุสะสมระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม - 28 ธันวาคม 2567 รวม 2 วัน มีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 592 ครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต 93 รายจำนวนผู้บาดเจ็บ 575 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 27 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ 10 ครั้ง ภูเก็ต 19 ครั้ง

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่นครศรีธรรมราช 5 ราย รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยภูมิ นครราชสีมา และพังงา จำนวน 4 ราย ส่วน ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง สงขลา หนองบัวลำภู และอุดรธานี จำนวน 3 ราย

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 24 คน และรองลงมาได้แก่กระบี่ 21 คน ประจวบคีรีขันธ์ 20 คน

ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ยังขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันเพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และบริการสาธารณะ ทุกจุดที่มีการรับส่งประชาชน หากในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุให้ตรวจสอบย้อนกลับพฤติการณ์ว่าเกิดจากอะไร เช่นขับรถต่อเนื่องนานกี่ชั่วโมง ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ เพื่อป้องกันที่ต้นเหตุ และขอให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย

จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ยังพบว่า ในระยะนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและอาจมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี และระนอง คาดการณ์ว่า วันนี้จะมีสถานการณ์ฝนเพิ่มขึ้น อยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงปานกลาง และอาจจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่

ศปถ. จึงประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกให้กวดขันการใช้ความเร็ว และขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีฝนตก ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีอากาศเย็น โดยเฉพาะบนยอดดอย ยอดภู ขอให้ประชาสัมพันธ์ผู้ที่เดินทางเปิดไฟตัดหมอกระมัดระวังในการแซง และหลีกเลี่ยงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

วันเดียวกัน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์คดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สองของ 10 วันอันตราย ช่วงควบคุมเข้มข้น เทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 5 มกราคม 2568 มีคดีรวมทั้งสิ้น 1,305 คดี แยกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,255 คดี คดีขับรถประมาท 2 คดี คดีขับเสพ 48 คดี

ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีสถิติการขับรถขณะเมาสุราสูงสุดถึง 288 คดี ตามมาด้วย สมุทรปราการ 146 คดี และ นนทบุรี 127 คดี ยอดสะสม 2 วัน (27-28 ธันวาคม 2567) มีคดีรวม 1,685 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 1,599 คดี (94.89%) ขับเสพ 82 คดี (4.87%) ขับรถประมาท 4 คดี (0.24%)

นอกจากนี้ ศาลยังสั่งใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) กับผู้กระทำผิดในคดีขับรถขณะเมาสุรา 4 ราย กำหนดระยะเวลาการติดอุปกรณ์ EM 4 เดือน พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EMCC)

กรมคุมประพฤติยังร่วมมือกับอาสาสมัครคุมประพฤติและเครือข่ายต่าง ๆ และผู้ถูกคุมความประพฤติจัดกิจกรรมรณรงค์และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น:จุดบริการประชาชนและด่านตรวจ 38 จุด มีผู้เข้าร่วม 201 ราย กิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัย 7 ครั้ง ผู้เข้าร่วม 526 ราย บริการสังคมปรับภูมิทัศน์พื้นที่เสี่ยง 4 ครั้ง ผู้เข้าร่วม 343 ราย อบรมความรู้กฎหมายจราจรและโทษภัยแอลกอฮอล์ 4 ครั้ง ผู้เข้าร่วม 151 ราย