“นิด้าโพล” เผยคะแนนนิยมทางการเมืองท้ายปี “เท้ง” ไล่บี้ “อุ๊งอิ๊ง” เบียดแซงเป็นอันดับ 1 ประชาชนหนุนนั่งนายกฯ เหตุมุ่งมั่นสานต่ออุดมการณ์พรรค ขณะ “ประชาชน” คว้าพรรคการเมืองอันดับ 1 ได้คะแนนกว่า 37% ตามด้วย “เพื่อไทย” ได้ 28% ตามด้วย “รทสช.” ด้าน “อนุทิน” ยันรัฐบาลแพทองธาร สามัคคีทำงานได้ดี ออกตัวไม่ขอประเมินผลงาน “นายกฯอิ๊งค์” แต่ยกภาวะผู้นำสูง ย้ำปรับ ครม.เป็นอำนาจผู้นำประเทศ แต่ ”ภูมิใจไทย“ ยืนยันโควตาเดิม ลั่นปีหน้าพร้อมผลักดันภารกิจกระทรวงมหาดไทย  ปราบผู้มีอิทธิพล แก้ยาเสพติด เพิ่มมิติป้องกันภัยพิบัติหลังลดงบเยียวยาพุ่งสูง

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.67 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.85 ระบุว่าเป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการสานต่ออุดมการณ์ของพรรคและมีบทบาทที่เข้ากับคนรุ่นใหม่ อันดับ 2 ร้อยละ 28.80 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมุมมองทันสมัยในด้านการเมือง อันดับ 3 ร้อยละ 14.40 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 10.25 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และมีภาพลักษณ์ของผู้นำที่เข้าถึงง่าย อันดับ 5 ร้อยละ 6.45 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความสามารถในการบริหารงาน และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ อันดับ 6 ร้อยละ 4.95 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน และยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะ เป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและมีประสบการณ์การทำงานยาวนาน อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ชื่นชอบผลงานและแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 2.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (พรรคกล้าธรรม) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) นายกัณวีร์ สืบแสง (พรรคเป็นธรรม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.30 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 27.70 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 10.60 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 8.20 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 5.15 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อับดับ 7 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อับดับ 8 ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อับดับ 9 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ และร้อยละ 1.10 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคกล้าธรรม พรรคไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินการทำงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกฯ ว่ามีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่ โดย นายอนุทิน ออกตัวว่าตนเป็นรองนายกฯ ผู้บังคับบัญชาคือนายกรัฐมนตรี  ยกตัวอย่างหากไปถามปลัดกระทรวงมหาดไทยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอบผ่านหรือไม่ ซึ่งหากสอบไม่ผ่าน  ก็ต้องบอกว่าสอบผ่าน  แต่ถ้าหากถามว่ารัฐบาลทำงานด้วยกันได้หรือไม่ คำตอบก็ว่าทำได้

นายอนุทิน กล่าวยอมรับว่า   นายกรัฐมนตรี  มีภาวะผู้นำสูง  และรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมทั้งตน ก็พร้อมรับคำแนะนำแนวปฏิบัติตามนโยบายของนายกฯ  รวมถึงหากไม่ใช่นโยบายหลักของรัฐบาลก็ทำมาโดยตลอด และดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย รวมถึงความสามัคคีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นได้ชัดก็มีรูปหมู่รวมกับนายกฯ และเนคไทที่ใช้อยู่​ นายกฯ ก็มอบให้โดยมีตราทำเนียบรัฐบาลหราเต็มไปหมด    ฉะนั้นหากเราไม่ชอบกัน   ตนคงไม่ใส่เนคไทนี้

เมื่อถามว่า ปี 2568 มีอะไรต้องเร่งดำเนินการหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) กังวลเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนพรรค ภท. ก็เน้นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่ต้องทยอยทำให้ครบทั้งประเทศ ต้องเจรจากับคณะกรรมการไตรภาคีให้เรียบร้อย และในส่วนกระทรวงมหาดไทย ก็มีงานมากทั้งการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาเสพติด การอำนวยความสะดวกดูแลประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น การพัฒนาท่องเที่ยวภูมิภาค การพัฒนาประปาและน้ำดื่มสะอาด ไฟฟ้าต้องเข้าถึงทุกพื้นที่ รวมถึงภารกิจป้องกันภัยต่างๆ ต้องเร่งเดินหน้ามิติการป้องกันให้เพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงหลังใช้งบในเรื่องการบรรเทาสูงเพราะปีนี้เฉพาะงบเยียวยาก็ 1 หมื่นกว่าล้านบาทแล้วเพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขในระยะยาว และต้องทำให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสังคายนาระบบหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด

เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วหรือไม่ และพรรค ภท. ยังพอใจในบทบาทกระทรวงเดิมหรือไม่  หัวหน้าพรรค ภท. ระบุว่าอะไรที่ไม่มีปัญหาก็อย่าให้มันมีปัญหา ซึ่งเรื่องการปรับ ครม. เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี  หากมีการปรับเมื่อไหร่ก็จะแจ้งมายังพรรคร่วมรัฐบาล

 ”พรรค ภท.ก็ยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มีการปรับ ครม. แล้วครั้งหนึ่งพรรค ภท. ก็ขอยืนยันว่าขออยู่ที่เดิม ไม่มีการขอหรือไปอ้างสิทธิ์ เมื่อมาถึงรัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ก็ยังยืนยันว่าสามารถทำงานได้“ หัวหน้าพรรค ภท. กล่าว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับวาทะ “สามีคนใต้” นายอนุทิน พูดสำเนียงใต้ว่า “ผมก็ภรรยาคนใต้” ก่อนอธิบายต่อว่า มันไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นการเปรียบเปรยของนายกฯ เพราะมีคนพูดว่านายกฯ ไม่สนใจภาคใต้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เพราะเมื่อเกิดอุทกภัยก็ต้องลงไปตามลำดับชั้น เพราะบางทีเป็นผู้ใหญ่มากๆ เวลาลงไปก็ต้องมีคนมาดูแล นอกจากจะไม่ได้ช่วยแล้วจะทำให้เกิดความล่าช้า และเป็นไปไม่ได้หากลงไปจะไม่มีข้าราชการมาดูแลเพราะระบบมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

นายอนุทิน กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อเกิดอุทกภัยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงไปช่วยเหลือหลังน้ำลดเพื่อฟื้นฟูเยียวยาซ่อมแซมซึ่งจะเป็นจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นคนที่มีวุฒิภาวะ ไม่มีทางจะบอกว่าไม่ลงพื้นที่เพราะไม่ชอบ ในทางกลับกันไม่ชอบยิ่งต้องลงพื้นที่จึงขอให้ตัดประเด็นนี้ออกไปได้เลย และในที่สุดท่านก็ลงสิ่งที่ได้ทำในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดอุทกภัยคือเน้นให้การช่วยเหลือเยียวยา

นายอนุทิน กล่าวว่าย้ำว่า หากถามว่ารัฐบาลสามัคคีกันหรือเปล่า ถ้าสำหรับการทำงานให้พี่น้องประชาชนเราสามัคคียิ่งกว่า เพราะมีทุกกระทรวงเห็นพ้องต้องกัน ระดมกำลังเข้าไปช่วย แต่ตอนนี้สิ่งที่เบื่อคือต้องให้เกิดเหตุก่อนแล้วค่อยลงไปช่วย ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ของบางอย่างหลีกเลี่ยงได้