ท่ามกลางมรสุมความสูญเสียจากอุทกภัยภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.ปัตตานี ที่น้ำท่วมสร้างความเสียหายตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 วิกฤตครั้งนี้ได้จุดประกายในหัวใจของเยาวชนหญิง 2 คน ให้รู้จักการช่วยเหลือชาวบ้านและสังคมท้องถิ่น ด้วยรูปแบบ “จิตอาสา” ผ่านการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“ยุส” น.ส.ยุรอ ดุลย์ธารา อายุ 22 ปี ปัจจุบันเธอกำลังรอเรียกรับการบรรจุเป็นครู หลังจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง (มทร.ศรีวิชัย จ.ตรัง)
ยุส เกิดและเติบโตใน จ.ปัตตานี จากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี มีพี่น้อง 6 คน ต้องแบ่งเบาภาระพ่อแม่ตั้งแต่เด็กด้วยการหารายได้รับจ้างเล็กๆน้อยๆ และเริ่มส่งตัวเองเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ความลำบากที่เธอต้องดิ้นรนฝ่าฟันมาตั้งแต่เด็กไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกน้อยใจในโชคชะตา แต่กลับฟูมฟักให้รู้จักคุณค่าของคำว่า “โอกาส” จนเธอต้องการจะเป็นผู้แบ่งปันและส่งต่อโอกาสนั้นให้กับคนอื่นๆ
“หนูมีพี่น้อง 6 คน หนูเป็นคนที่ 4 คุณพ่อป่วยตอนหนูกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แม่ที่เคยเป็นแม่บ้านต้องออกไปทำงาน ทำให้แม่มีภาระต้องดูแล 8 ชีวิต รวมคุณยายอีก 1 คน ด้วยฐานะทางบ้านทำให้หนูทำงานเล็กๆน้อยๆเพื่อหาเงินช่วยครอบครัวตั้งแต่ ป.1 ก่อนคุณพ่อจะป่วย พอคุณพ่อป่วยก็เริ่มค้าขายอยากแบ่งเบาภาระที่บ้าน เห็นว่าแม่ลำบาก อยากทำตัวให้ดีขึ้น”ชีวิตของยุสไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนใครหลายๆคน แต่เส้นชีวิตทำให้เธอได้ฝึกฝนความแข็งแกร่ง
พี่น้องทุกคนของยุสเรียนมหาวิทยาลัย มีเพียงเธอที่เรียนสายอาชีพ โดยพี่ๆของเธอพอจบ ม.6 ต่างก็หาทุนเรียนกันเองเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของครอบครัว ส่วนยุสเมื่อเรียนอยู่ ม.ปลาย และพ่ออาการเริ่มดีขึ้นก็ไปช่วยแม่ขับรถ
“หนูก็ต้องดูแลน้องๆอีก 2 คน ที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมกับมัธยมต้น จัดการเรื่องการกิน บัญชีในบ้าน ขับรถไปไปรับส่งน้องไปโรงเรียน ตอนเย็นก็ต้องเลิกก่อนเวลาเพื่อไปรับน้องที่เรียนประถมเพราะเลิกเร็วกว่ามัธยม หนูไปทำงานร้านอาหารบ้าง รับจ้างบ้าง เก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยไปลงพื้นที่ รับจ้างทำความสะอาดบ้านวันหยุด” น.ส.ยุรอ เล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก
ยุสรอ ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และเป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ จาก กสศ. ปี 2565 ระหว่างที่รอเรียกรับการบรรจุเป็นครู เธอได้รับการชักชวนให้มาทำงานเป็นแอดมินกลุ่ม Community of Rock ของ กสศ.
หลังจากเรียนจบระดับชั้น ปวช. ยุสได้มีโอกาสไปทำงานโรงงานที่ จ.สงขลา แต่ทำได้เพียงครึ่งเดือนเธอก็กลับมาขี่รถส่งอาหารเป็นไรเดอร์สาวที่บ้านเกิด
“ทุนพระกนิษฐาฯมีโครงการพัฒนานักศึกษาทำให้รู้สึกว่าเราได้รับแล้วเราก็อยากจะเป็นผู้ให้ด้วย จากมือล่างเปลี่ยนมาเป็นมือบน หนูเคยลำบากมาก่อน เรารู้ว่าเขาอยากได้ความช่วยเหลือ หนูได้ไปร่วมกิจกรรมโครงการของมูลนิธิ พชภ.ที่ จ.เชียงราย เป็นโครงการที่ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองว่าเราเป็นอย่างไร ได้ทบทวนว่าได้โอกาสมาเยอะมาก ได้เรียน ได้มีความฝัน อยากเป็นคนที่ให้คนอื่น ต้องการช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นด้วย” ยุสรอ เล่าถึงจุดประกายแรกในการเข้าสู่ “จิตอาสา”
วิกฤตน้ำท่วมภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2567 ยุสกลายป็นผู้ประสบภัยอยู่ จ.ปัตตานี โดยวันที่น้ำจากเขื่อนถูกปล่อยลงมาจนน้ำท่วม เธอกำลังขี่จักรยานยนต์ไปเก็บข้อมูลให้ กสศ. กระแสน้ำบนถนนพัดแรงจนทำให้รถจักรยานยนต์ รุ่นเวฟไอ ที่เธอกำลังขี่ดับลงทันที เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่รถดับ ความมีน้ำใจของชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นต่างรีบเข้ามาช่วยเธอ สร้างความประทับใจให้กับยุสเป็นอย่างมาก แม้ผลสรุปวันนั้นจะซ่อมไม่ได้และต้องยกรถกลับบ้าน แต่ได้จุดประกาย “จิตอาสา” ให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของเธอ
ยุสตัดสินใจเขียนโครงการของบประมาณ 6,000 บาท ก่อนจะเป็นที่มาของโครงการจิตอาสาซ่อมรถจักรยานยนต์เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ปัตตานี
“วันที่น้ำท่วมได้รับการติดต่อว่ามีน้องๆนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี ยังติดอยู่ในวิทยาลัยฯ วันที่ทราบยังท่วมไม่เยอะมาก วันต่อมา 30 พฤศจิกายน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่วิทยาลัยน้ำอยู่ระดับอกแล้ว มีนักศึกษาติดอยู่ข้างในไม่สามารถออกมาได้ราวๆ 50คน จนทั้งหมดต้องย้ายไปอยู่อาคารเรียน 4 ชั้น เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ เราจึงทำการเก็บข้อมูลส่งให้ กสศ.ว่านักศึกษาประสบภัยเป็นอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง” ยุส เล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี เนื่องจากบ้านเธอเองก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน อีกทั้งพบอีกว่าร้านประจำเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 3,000 บาท
เธอมองว่าคนปัตตานีนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก เมื่อประสบเหตุน้ำท่วมทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะมีภาระทางการเงินเพิ่มจากค่าซ่อมบ้าน
“โครงการที่หนูทำหลังน้ำลด คือการแบ่งเบาเรื่องการซ่อมรถมอไซค์ คนที่ปัตตานีเขาจะใช้มอไซค์เป็นส่วนใหญ่ พอมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมที่สูงทำให้ไปทำงานลำบาก เลยคิดว่าจะชวนน้องๆจากวิทยาลัยมาซ่อม อาจารย์ที่วิทยาลัยบอกว่ามีโครงการเหมือนกัน เลยทำให้น้องๆนักศึกษาได้ออกมาช่วยกันซ่อมมอไซค์ให้ชาวบ้าน” น.ส.ยุส อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เธอกลายเป็นนักกิจกรรมจิตอาสาครั้งแรก
นักศึกษาทุนพระกนิษฐาฯ เล่าอีกว่า เมื่อได้งบประมาณสนับสนุนโครงการซ่อมรถจักรยานยนต์ให้ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม 6,000 บาท เป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งแรกในการเป็นหัวเรือใหญ่กับภารกิจจิตอาสาที่ต้องไปติดต่อกับร้านจำหน่ายน้ำมันเครื่อง ติดต่อร้านขายอาหารตามสั่ง หารถกระบะไปขนน้ำมันเครื่อง ฯลฯ
ยุสสามารถติดต่อร้านค้าที่ยินดีจำหน่ายน้ำมันเครื่องให้ในราคาส่วนลด รวม 80 ขวด จัดหาอาหารกลางวันและเครื่องดื่มสำหรับบุคลากรที่มาซ่อมรถจำนวน 20 คน 1 วัน นอกจากนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังได้ร่วมสนับสนุนน้ำมันเครื่องอีก 100 ขวด ในที่สุดโครงการจิตอาสาของยุสรอก็สามารถเปิดศูนย์ซ่อมได้นานถึง 1 สัปดาห์ รวมๆมีรถจักรยานยนต์มาซ่อมไม่ต่ำกว่า 200 คัน
การทำกิจกรรมจิตอาสาช่วงน้ำท่วมภาคใต้ ยังทำให้ยุสรอได้ค้นพบความต้องการของตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้นว่าอยากเป็นครู
“หนูไม่ได้กลับวิทยาลัยมา 2 ปีแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือการสร้างเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้อง บางคนอยากเรียนต่อปริญญาตรีหนูก็ได้ให้คำแนะนำน้องๆไป ได้แนะแนวน้องไปในตัว ได้ทำความรู้จักเพื่อนๆน้องๆ ได้สร้างสายสัมพันธ์วิทยาลัย หนูได้คุยกับอาจารย์ซึ่งอยากจะสนับสนุนน้องๆแต่ไม่มีรุ่นพี่แนะนำ
ยุส ยังบอกด้วยว่า หลังจากได้คุยกับชาวบ้านที่เอาเครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์มาซ่อม คำขอบคุณของชาวบ้านทำให้เธอรู้สึกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือ
“โครงการซ่อมรถจักรยานยนต์ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมนี้เกิดขึ้นเพราะหนูเคยผ่านความลำบากมากับตัวเอง การจะหาเงินมาใช้จ่ายช่วงน้ำท่วมทั้งๆที่ไม่ได้ทำงานเป็นสัปดาห์ที่ยากจะก้าวผ่านไปได้ หนูเลยอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระเขา” ยุสรอ ให้ความเห็นปิดท้าย
ในขณะที่ “บุส” น.ส.บุสริน หมัดเร๊ะ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 (หลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง มทร.ศรีวิชัย จ.ตรัง ซึ่งได้รับทุนพระกนิษฐาฯ เช่นเดียวกับยุส ได้เขียนโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้ช่นกัน 2 โครงการ คือ ปันใจช่วยเหลืออุทกภัย จ.ปัตตานี (5,000 บาท) และ ฟื้นฟูอุทกภัย จ.ปัตตานี (5,500 บาท) ซึ่งเธอได้รับงบประมาณ 10,500 บาท
บุส ชักชวนเพื่อนรวม 7 คน ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ซื้อน้ำดื่ม 20 โหล ,ขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ,ปลากระป๋อง แพ็คเป็นถุงยังชีพได้มากกว่า 80 ชุดแล้วเข้าไปแจกให้กับชาวบ้านที่ได้ประสบภัยน้ำท่วมตามหมู่บ้านต่างๆ
“แม่หนูนอกจากจะรับจ้างกรีดยางในพื้นที่ ต.เทพา แล้วยังเป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ด้วย เวลาพ่อกับแม่ทำกิจกรรมในชุมชนทำให้หนูซึมซับตรงนี้มา วันที่ 6 ธันวาคม หลังกลับจากลงพื้นที่ จ.ปัตตานี แล้วหนูยังขี่ซาเล้งพาแม่ไปแจกน้ำดื่มตามบ้านที่น้ำท่วมในตำบล แม่สนับสนุนทุกอย่างเลย ตั้งแต่หนูทำโครงการแจกของให้ผู้ป่วยติดเตียง แม่ก็เป็นคนประสานให้ หาข้อมูลให้ว่าใน ต.เทพา มีผู้ป่วยติดเตียงกี่คน พ่อก็สนับสนุนโดยเฉพาะเวลาต้องเซ็นเอกสารทำโครงการ แม้ไม่ค่อยจะมีงบแต่ครอบครัวซัพพอร์ตหนูทางใจมากๆในการทำกิจกรรมจิตอาสา” บุส เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงแรงบันดาลใจที่สำคัญของเธอ
บุส ยังบอกอีกว่าการได้เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาในวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้คราวนี้ เป็นการปลดล็อคความไม่กล้าจะให้การช่วยเหลือคนอื่นๆ เพราะเธอรู้ดีว่าตัวเองไม่มีต้นทุนและงบประมาณ โดยที่ผ่านมาเธอทำได้แค่เพียงบริจาคเล็กๆน้อยๆตามกำลัง ผ่านเพจรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ
“หนูรู้สึกดีมากๆและเหมือนได้ปลดล็อคตัวเองจากการไม่กล้า เพราะเราอยู่ในพื้นที่เล็กๆอยากจะช่วยเหลือแต่เราไม่มีต้นทุนหรืออะไรเลย พอหนูได้รับทุนก็เลยชวนเพื่อนๆที่เขามีความรู้สึกไม่กล้าก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเองเหมือนหนู มารวมตัวทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับรุ่นน้อง” บุสริน เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใส ซึ่งการลงพื้นที่เป็นจิตอาสาแจกถุงยังชีพใน อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ทำให้บุสได้ประสบการณ์และเห็นอุปสรรคที่จะนำไปต่อยอดกิจกรรมในอนาคตได้
“ที่หนูไปเจอมาคือการแจกถุงยังชีพซ้ำซ้อนกัน บางหมู่บ้านเขารู้สึกว่าการดูแลไม่ทั่วถึง หรือไปแจกซ้ำซ้อนชาวบ้านก็จะต่อว่าผู้ใหญ่บ้านทำให้เขาไม่ลงรอยกันอีก หนูเลยเปลี่ยนเป้าหมายจากการแจกให้ชาวบ้านทั่วไปเป็นการแจกของให้กับผู้ป่วยติดเตียง คือถ้าของมีน้อยแล้วเอาไปแจกในนามผู้ใหญ่บ้านมันจะดูน่าเกลียด เวลาชาวบ้านที่ไม่ได้รับของเขาก็จะต่อว่าผู้ใหญ่บ้าน พอหนูบอกว่าเป็นของที่ไปแจกผู้ป่วยติดเตียงเขาก็ชมว่าขอบคุณที่ไม่ลืมกัน” บุส เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
บุสริน ฝากถึงรุ่นน้องหรือคนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจกรรมด้านจิตอาสาด้วยว่า “สำหรับหนู หนูจะวิ่งหาโอกาส ไม่ปฏิเสธโอกาส รับไว้ก่อนแล้วหาทางค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ไม่กดดันตัวเอง จัดสรรเวลาตัวเองให้ดีแล้วงานของเราจะออกมาดี อย่ากลัวที่จะทำอะไร อย่าคิดว่าตัวเราทำไม่ได้ถ้าเรายังไม่ทำ” บุสริน กล่าวปิดท้าย