วันที่ 27 ธ.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางขยายโครงการ BKK Food Bank ว่า เนื่องจาก ในปี 2567 กทม.ขยายจุดรวบรวมสิ่งของบริจาคจากประชาชนครบ 50 เขตแล้ว มีรายชื่อกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนรับของบริจาคประมาณ 23,000 คน ส่งต่ออาหารให้ผู้ที่ต้องการแล้ว 160,311 คน คิดเป็น 3,552,639 มื้อ ลดการปล่อยคอร์บอนกว่า 2,151,040 kgCO e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 143,402 ต้น ปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ จำนวนมาก ในปี 2568 กทม.จึงวางแผนขยายโครงการให้มากขึ้น ตั้งเป้ามีกลุ่มเปราะบางลงทะเบียนรับของบริจาค 50,000 คน โดยร่วมกับ 'โครงการวัดคู่เมือง' ซึ่งมีจุดประสงค์พัฒนาเมืองและส่งเสริมภารกิจการประสานความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และกรุงเทพมหานคร ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเดินทาง ด้านช่วยเหลือผู้ลำบาก ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ประเพณีต่าง ๆ ในแต่ละเขต ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาชีพ ปลูกผักปลอดสารพิษ คัดแยกขยะ เป็นต้น
โดยให้วัดต่าง ๆ กว่า 400 วัดในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ร่วมกัน การแก้ปัญหาชุมชนร่วมกับภาคประชาชน ภาครัฐ วัดและโรงเรียน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่ง กทม.ตั้งเป้าขยายโครงการ BKK Food Bank ในวัดทุกแห่งที่ร่วมโครงการ เพื่อเป็นจุดส่งต่อของบริจาคให้กว้างไกลและทั่วถึง ครอบคลุมมากขึ้น เช่น นอกจากอาหารแล้ว ยังมีเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการทำบุญ สิ่งของบริจาคที่มากขึ้น ก็จะส่งต่อผู้ที่ต้องการได้มากขึ้นต่อไป
นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการ BKK Food Bank เกินเป้าหมายบริจาคอาหารไปแล้ว ขณะนี้จะขยายเป็นการนำขยะชิ้นใหญ่มาสร้างประโยชน์ โดยร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา สามารถสร้างพลังได้มาก เพราะ กทม.มีพื้นที่ 50 เขต สิ่งต่าง ๆ ที่ทำมา จะนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปีหน้า โดยการเพิ่มสิทธิการแจกต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเขตเป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนการเชื่อม BKK Food Bank เข้ากับวัดคู่เมือง สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นผู้ดำเนินการ เป็นมิติความร่วมมืออีกแบบหนึ่ง ในลักษณะการทำกุศล ขณะที่ กทม.ทำในลักษณะการสงเคราะห์ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันในปีหน้า
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างวางแผนดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองร่วมกับมัสยิดและพี่น้องชาวมุสลิม โดยการจัดตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุข ความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและส่งเสริมชุมชนให้ตรงจุด ยกตัวอย่าง แนวคิดการสนับสนุนอาหารฮาลาลในโครงการ BKK Food Bank เพื่อเข้าถึงผู้ที่ต้องการมากขึ้น จากการสำรวจ กรุงเทพฯ มีมัสยิดประมาณ 187 แห่ง พี่น้องมุสลิมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ 2.กลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ 3.กลุ่มต้องการความช่วยเหลือ โดย กทม.จะเน้นด้านประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก สิ่งที่จะเริ่มดำเนินการลำดับแรกคือ บริการตรวจสุขภาพพี่น้องมุสลิมฟรีในชุมชุนต่าง ๆ โดยรอบ 187 มัสยิด ส่วนแผนงานอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างหารือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทาง สร้างความร่วมมือ และรับฟังปัญหาเพื่อหยิบยกมาแก้ไข ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เห็นผลชันเจนขึ้นในปี 2568