ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : “ภูพระบาท – ต้มยำกุ้ง – เคบายา” งานเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก 2567
ว่าด้วยภาพรวมผลงานเด่นคุณค่าด้านวัฒนธรรมที่คนไทยและคนทั่วโลกรับรู้ได้ในรอบปี 2567 ผลงานมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เสนอโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา
ต้องบอกว่า กว่าที่ภูพระบาทจะได้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปี 2567 ต้องใช้เวลารอคอยนาน 2 ทศวรรษ ตั้งแต่อยู่ในบัญชีชั่วคราว(Tentative Lists) ปี 2547 (Phuphrabat Historical Park , 2004) ต่อมามีการจัดทำเอกสาร Nominations File ขั้นตอนสุดท้ายของการจะเสนอเป็นมรดกโลก ทว่าหลักเกณฑ์คุณสมบัติความโดดเด่นสากลนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาในสมัยประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 40 ทำให้คณะทำงานของไทยต้องมาจัดทำความโดดเด่นสากลของแหล่งให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำเสนออีกครั้ง ซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีนี้ ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 (ลำดับที่ 8 ของมรดกโลกในไทย ธรรมชาติ วัฒนธรรม) และยังเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก่อนหน้านี้
ผลงานเด่นที่เพิ่งผ่านการรับรู้ของคนไทยทั่วประเทศ นั่นคือ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” จากที่มีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC) ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2567 ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย ได้มีมติเห็นชอบประกาศให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ของประเทศไทย และเคบายา Kebaya (ขึ้นร่วม 5 ประเทศอาเซียน มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และไทย) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity: RL) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี 2567
“ต้มยำกุ้ง” เป็นการเสนอโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ข้อมูลทั่วไป “ต้มยำกุ้ง” เป็น “กับข้าว” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองโดยพึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลางของไทย นำวัตถุดิบทีมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยต้มยำกุ้ง คือชื่อเรียกที่เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร ปัจจุบันภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ
ส่วน เคบายา (Kebaya) ขึ้นร่วม 5 ประเทศในอาเซียน โดยใช้ชื่อที่เสนอต่อยูเนสโกว่า Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices หรือ เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ ข้อมูลทั่วไป เคบายา เป็นเสื้อสตรีผ่าหน้า มีการฉลุหรือปักลวดลาย มักสวมใส่ในโอกาสสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น งานมงคลสมรส งานบวช งานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น เคบาย่าถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และบริเวณภาคใต้ของไทยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับประเทศไทย เคบายาปรากฏอยู่ในเนื้อหาของรายการ “การแต่งกายบาบ๋า - เพอรานากัน” ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี 2555 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี
สำหรับประเทศไทยมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ยูเนสโกแล้ว จำนวน 6 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ล่าสุด ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) และเคบายา นี่คือภาพรวมผลงานเด่น ต้มยำกุ้ง เคบายา และภูพระบาท คุณค่าด้านวัฒนธรรมระดับโลกในรอบปี 2567