ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเต็มกำลังกับโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารภายใต้นโยบาย "One Family One Soft Power" (OFOS) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับศักยภาพด้านอาหารของไทยสู่ระดับโลก ด้วยเป้าหมายชัดเจนในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) ภายในปี 2570 

เมื่อเร็วๆนี้ จากที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร เดินหน้านโยบาย One Family One Soft Power : OFOS สอดรับการส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) จากนโยบายดังกล่าว นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินโครงการผ่าน 4 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1) ยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 3) ยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน และ 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยสานต่อความสำเร็จด้วยแผนงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570)

สำหรับ บรรยากาศภายในงานยังได้จัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กับ หน่วยงานภาคีเครือข่ายอีก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2) คณะกรรมการอาชีวศึกษา 3) กรมอนามัย 4) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 5) สถาบันคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 6) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และ 7) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหาร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย

วิสัยทัศน์จากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ได้เข้าร่วมในงานเปิดตัวโครงการฯ ครั้งนี้ด้วย

 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงความสำคัญและเป้าหมายของโครงการ โดยเน้นว่า OFOS เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการฝึกอบรมแรงงานทักษะสูง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

“อาหารไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเรือธง  ด้วยชื่อเสียงด้านรสชาติและเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่ยังขาดคือระบบจัดการร้านอาหารไทยและการส่งออกวัตถุดิบไปทั่วโลก” นายแพทย์สุรพงษ์กล่าว พร้อมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้น

 การฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายเชฟไทย

การฝึกอบรมเชฟ จะเริ่มต้นในปี 2568 ด้วยการอบรมรุ่นแรกจำนวน 1,500 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 คนในปีเดียวกัน รวมถึงเป้าหมายสูงสุด คาดสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศกว่า 3,500 ล้านบาท  ภายในปี 2570 ซึ่งหลักสูตรอบรมจะใช้เวลาเพียง 28 วัน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะปฏิบัติจริง โดยไม่เน้น     วุฒิการศึกษา แต่สร้างความพร้อมในการทำงานจริงทันทีหลังจบการอบรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รัฐบาลจะสร้างเครือข่ายความร่วมมือผ่านสถานทูตและทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อให้เจ้าของร้านอาหารสามารถค้นหาและติดต่อเชฟไทยได้โดยตรง

นวัตกรรมเพื่ออนาคต: อาหารไทยสู่ตลาดโลก

นอกจากการพัฒนาคน โครงการยังมีแผนที่จะส่งเสริมการส่งออกอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานถึง 1-2 ปี ซึ่งจะช่วยขยายตลาดอาหารไทยให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

ก้าวสำคัญสู่เศรษฐกิจใหม่

นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวว่า การเปิดตัวโครงส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เรากำลังเดินหน้าสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไทยให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อผ่านกองทุนหมู่บ้านหรือเว็บไซต์ THACCA (Thailand Creative Content Agency) ซึ่งจะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในปี 2568