ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

“ชีวา” ที่มีความหมายโดยทั่วไปว่า “ชีวิตที่สุดสนุก” อาจจะแปลได้แค่เพียงว่า “ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป”

ปรีดาไม่เคยกลับไปบ้านที่กรุงเทพฯอีกเลย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาจะถูกตัดขาดความเป็นพ่อแม่และลูกตั้งแต่ตอนที่จบมหาวิทยาลัย แต่เป็นด้วยนิสัยที่เขาอยู่ไม่ติดที่ ซึ่งคนโบราณเรียกว่า “เทวดาลงเท้า” แต่ตัวปรีดาเองกลับเรียกว่า “เทวดาหลงทาง” เพราะเขาคิดว่าเขายังหาเป้าหมายในชีวิตไม่เจอ จึงต้องใช้ชีวิตไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปในสถานที่ต่าง ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

หลังจากที่เอาชีวิตรอดออกมาจากค่ายกะเหรี่ยงในป่าชายแดนได้อย่างโชคช่วย เขาก็คิดไปอยู่กับเพื่อนในถิ่นที่มีความเจริญและแสงสีมากสักหน่อย ซึ่งก็เผอิญโชคก็เข้าข้างเขาอย่างไม่ชักช้า เพราะเขากำลังจะหมดเงินติดกระเป๋าอยู่พอดี ปรีดาเดินทางไปพัทยาไปหาเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพื่อนคนนี้ทำธุรกิจที่เขาไม่รู้มาก่อนว่าเป็น “ธุรกิจสีดำ” ซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าคงแค่สีเทา ๆ และไม่มีอันตรายอะไรมาก ด้วยความที่เขาเรียนมาด้านนิติศาสตร์ เพื่อนก็ให้เขาช่วยจัดการเกี่ยวกับสัญญาธุรกิจต่าง ๆ ส่วนมากก็จะเป็นสัญญาเงินกู้ สัญญาจำนอง และใบรับจำนำข้าวของทั่วไป (อันหลังนี้มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขารู้ตอนหลังว่าเป็นพวกที่เป็นหนี้ในบ่อนของเพื่อน และต้องเอาข้าวของต่าง ๆ มาจำนำใช้หนี้ ตั้งแต่สร้อยแหวนนาฬิกา ไปจนถึงรถยนต์และหุ้นบริษัท) แต่เอาเข้าจริง ๆ เขาก็ไม่ได้ดูแลในรายละเอียดไปทั้งหมด เพียงแค่ให้เขาคอยนับจำนวนสัญญาและจำนวนยอดเงินให้บ้างเท่านั้น

เขาอยู่กับเพื่อนคนนี้กว่า 5 ปี โดยงานจริง ๆ น่าจะเป็นการทำหน้าที่เป็น “เพื่อนกินเหล้า” กับเพื่อนของเขาคนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นด้วยเขาไม่เคยถามซอกแซกเกี่ยวกับธุรกิจเสี่ยง ๆ ของเพื่อนแต่อย่างใดเลย เวลาไปไหนมาไหนด้วยกันก็มีแต่เรื่องสนุกสนานเฮฮา อันเป็นความสามารถที่เป็นพรสวรรค์ของปรีดามาแต่ไหน ๆ จนกระทั่งบ่อนของเพื่อนถูกตำรวจกวาดล้าง เพื่อนของเขาหนีออกประเทศไปทางชายแดนเขมร เขาจึงรู้ว่าเพื่อนของเขาไม่เพียงแต่จะมีบ่อน(ซึ่งความจริงเป็นธุรกิจบังหน้าและเคยถูกสั่งปิดมาหลายครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองชอบที่จะให้มีธุรกิจแบบนี้ไว้ “เลี้ยงดู” นอกเหนือจากเงินเดือนราชการอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว) แต่ยังค้าแรงงานเถื่อนกับอาวุธสงคราม ซึ่งรัฐบาลไทยถูกกดดันมาจากนานาชาติ ตามกฎหมายการค้ามนุษย์และแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ไทยต้องปฏิบัติตามนั้นด้วย (ตำรวจหรือผู้มีหน้าที่จึงต้อง “จริงจัง” บ้าง เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล)

ปรีดาที่ตอนนั้นถือว่ามีฐานะที่เรียกว่า “เสี่ย” ได้คนหนึ่ง เพราะสะสมเงินทองที่ได้มาจากเพื่อนที่ทำธุรกิจสีดำในพัทยานั้นได้มากพอสมควร เขานึกถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดน่าน ซึ่งเขาเคยไปอาศัยอยู่ด้วยระยะสั้น ๆ ในตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เขายังเคยบอกกับเพื่อนด้วยว่าอยากจะมา “ตาย” ที่นี่ (ซึ่งตอนที่เขาพูดนั้นมักจะเป็นในทุกครั้งที่เขากินดื่มจน “ได้ที่” และพูดบ่อยมาก จนเขามานึกอีกทีว่าอาจจะเป็นความต้องการจริง “จากหัวใจ” ของเขาก็ได้) ซึ่งเพื่อนคนนี้ก็ต้อนรับเขาด้วยความดีใจ เขาบอกเพื่อนว่าจะลงทุนทำเกสต์เฮาส์แบบที่เรียกว่า “โฮมสเตย์” เพราะตอนที่เขาอยู่พัทยาได้ยินฝรั่งพูดถึงที่พักแบบนี้กันมาก ว่าเหมาะกับเมืองท่องเที่ยวที่มีป่าเขา มีวัฒนธรรม ฝรั่งหนุ่มสาวจะชอบการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ส่วนฝรั่งที่มีอายุจะชอบเที่ยววัดวาอารามและธรรมชาติที่สวยงามต่าง ๆ

อากาศที่เมืองน่านดีมาก(แม้ว่าหน้าร้อนจะร้อนมาก ๆ เหมือนทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่พอถึงหน้าฝนจะมีหมอกเย็นครึ้มไปทุกขุนเขา แม้แต่ในเมืองก็ชุ่มฉ่ำเย็นสบาย ยิ่งหน้าหนาวอากาศเย็นยะเยือก อากาศก็ยิ่งสดชื่น และป่าเขาก็ยิ่งสวยงาม) เขาซื้อที่ดินขนาด 2 งาน พร้อมเรือนแถวไม้ 2 ชั้นเก่า ๆ ข้างวัดโบราณแห่งหนึ่งในตัวเมือง แล้วให้ช่างชาวบ้านปรับปรุงเป็นห้องพัก ชั้นบน 4 ห้อง ชั้นล่าง 2 ห้อง กับเคาเตอร์พนักงานและที่กินข้าวอยู่อีกมุมหนึ่ง ด้านหลังเรือนแถวยังพอมีที่ว่างสัก 50 ตารางวา ก็ปลูกเรือนพักของเขาขึ้นอีก 1 หลัง พอเสร็จก็ทันหน้าหนาวพอดี เขามีเพื่อนเป็นพวกไกด์ที่หากินกับฝรั่ง ที่เคยรู้จักกันมาสมัยที่อยู่พัทยาคอยหาลูกค้าให้ รวมถึงที่ใน พ.ศ.นั้นก็เริ่มมีระบบการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ที่หาลูกค้าผ่านสื่อโซเชียลบางแพลตฟอร์มขึ้นบ้างแล้ว ก็ทำให้ธุรกิจไปได้ดีมาก โดยมีนักธุรกิจอื่น ๆ มาเปิดให้บริการเกี่ยวกับที่พักและการท่องเที่ยวมากขึ้น จนทำให้จังหวัดน่านดูมีชีวิตชีวาขึ้นมามากกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก

ปรีดาใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ที่น่านได้กว่า 7 ปี ก็เกิดปัญหา “มลภาวะทางการท่องเที่ยว” คือมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวกันมากเกินไปจนเกิดวุ่นวายสับสน โดยเฉพาะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯคิดแต่จะขายสถานที่ท่องเที่ยวแปลก ๆ หรือ “ของแปลก” ต่าง ๆ แบบที่เรียกแคมเปญนั้นว่า “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์” แม้แต่จังหวัดที่มีความสวยงามในด้านต่าง ๆ เป็นความแปลกอยู่แล้ว อย่างที่จังหวัดน่าน ก็ถูกค้นหาความแปลกอะไรอื่น ๆ ให้มีมากขึ้นไปอีก ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือการเร้าระดมการโฆษณาเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายให้คนมาเที่ยวกันมาก ๆ โดยไม่ประเมินก่อนว่าจะมีที่พักหรือสิ่งอำนายความสะดวกต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวอย่างพอเพียงหรือไม่ รวมถึงคุณภาพของนักท่องเที่ยว ที่พอมาในสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็กะเกณฑ์เอาแต่ให้เจ้าของธุรกิจมาเอาใจ พอไม่ได้ดั่งใจก็ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แล้วหน่วยงานเหล่านั้นก็บ้าจี้ เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการจนสับสนไปหมด สิ่งนี้ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศค่อย ๆ หายหน้าหายตาออกไป ส่วนคนไทยพอเที่ยวฉ่ำ “ทำลาย” ความแปลกให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ก็โยกย้ายไป “ทำลาย” ยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป

ปรีดาขายที่ทางและธุรกิจที่น่านได้ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านั้น ตอนนั้นพวกเรากำลังจัดงานเลี้ยงรุ่นเป็นครั้งแรก ๆ ก็พยายามติดต่อเพื่อน ๆ ให้มาร่วมงานกัน ปรีดาเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ตามตัวค้นหาไม่ได้ จนกระทั่งอีก 10 ปีต่อมา ผมจึงไปได้ “เบาะแส” ของเขาเข้าโดยบังเอิญ ในตอนที่ไปเที่ยวจังหวัดน่านตอนหน้าหนาวในปีนั้น เพราะคณะของผมเข้าไปกินข้าวในร้านที่เคยเป็นเกสต์เฮาส์ของปรีดาเมื่อครั้งก่อนโน้น ด้วยความโบราณของเรือนแถวไม้ ผมจึงซักถามเอาประวัติความเป็นมา เจ้าของร้านอาหารก็เลยเล่าว่าเจ้าของเดิมซึ่งก็คือปรีดา เพิ่งจะมา “เยือนอดีต” เมื่อไม่กี่วันนี้ พร้อมกับให้เบอร์มือถือไว้ด้วย ผมก็เลยได้เบอร์มา พอโทรหาเขาเขาก็พยายามบ่ายเบี่ยงไม่อยากเจอผม ผมจึงดั้นด้นไปหาเขาในวันรุ่งขึ้น จนกระทั่งตามตัวเขามางานเลี้ยงรุ่นในปีต่อมา โดยเขาบอกกับเพื่อนที่มาไถ่ถามทุกข์สุขว่า “กูหนีเข้าป่า”

พวกเรามาคุยกันลับหลังปรีดาในโอกาสอื่น ๆ ต่อมา แล้วคุยกัยถึงชีวิตของปรีดาที่แต่ละคนได้ไปคุยมา เพื่อนบางคนเล่าว่าปรีดาไปเป็นผู้ก่อการร้าย แต่บางคนบอกว่าปรีดา “เบื่อโลก” ไปอยู่ในวัดป่าที่ชายแดน ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่าปรีดาไปเปิดบ่อนอยู่ที่ฝั่งลาว พอผมไปถามปรีดาว่าอันไหนจริง เขาบอกว่า “จริงทั้งหมด แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด” คือเขาเบื่อชีวิตนักธุรกิจตอนที่ทิ้งเกสต์เฮาส์ที่น่าน เขาก็ไปที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปแอบอ้างเป็นนักข่าวอาศัยอยู่กับพวกว้าที่สู้รบกับพม่า ไปอยู่ 2 ปี ว้าก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก (ในเรื่องยาเสพติด ไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเอกราช เพราะยาเสพติดคือรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงชนชาติว้า) เขาก็ไปอยู่ที่เชียงรายอีก 4 ปี ไป ๆ มา ๆ ที่ฝั่งลาวบ้าง แต่ไม่ได้ไปทำบ่อน แต่ไป “ล้างมลพิษทางใจ” จากนั้นก็กลับมาที่น่าน โดยไปอาศัยอยู่อีกในหมู่บ้านบนภูเขาในอำเภอนอกเมือง จนกระทั่งผมได้ไปพบเขา (และเขาก็ยังอยู่ที่นั่นมาจนถึงทุกวันนี้) โดยเขายังพยายามที่จะ “ล้างพิษ” ให้หมดใจ “อยู่ทุกลมหายใจ”

ผมถามเขาว่าพิษทางใจของเขาคืออะไร เขาบอกว่าคือ “ชีวิตที่มีชีวาที่เกินขนาด ซึ่งก็เหมือนการกินยาเกินขนาด ต้องใช้ความสงบเงียบล้างพิษนั้น”