สัปดาห์พระเครื่อง/ราม วัชรประดิษฐ์
เหรียญท้าวสุรนารี (โม) หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “เหรียญย่าโม” รุ่นแรก ปี พ.ศ.2477 นั้น ถ้าไม่นับรวมเหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธแล้ว นับว่าเป็นสุดยอดเหรียญหลักที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นเหรียญที่เสาะแสวงหาได้ค่อนข้างยากของเมืองโคราช หลานย่าโมในยุคปัจจุบันนี้ เลยทีเดียวเชียว
พุทธลักษณะของเหรียญมีลักษณะ เป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีขนาดความสูง 3.5 ซม. กว้าง 2.7 ซม. หนาหนึ่งมิลลิเมตรเศษ เจาะรูในตัว"ด้านหน้าเหรียญ"เป็นรูปท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ยืน ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม ประดับกายด้วยเครื่องยศ ทองคำพระราชทาน นุ่งผ้าจีบยกทองคาดเข็มขัด ห่มสไบกรองทองเฉียงบ่าซ้าย สวมตุ้มหูห้อยระย้า สวมตะกรุดพิสมรมงคลสามสายทับสไบ มือขวากุมดาบ ด้ามดาบจำหลักลายสอดอยู่ในฝัก ปลายดาบจรดพื้นดิน มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าตรง ก้มหน้าเล็กน้อย เบื้องหลังเป็นใบเสมาโค้งที่แกะเว้าลึกลงไปในเนื้อเหรียญ ที่ด้านข้างมีอักษรไทย “น.” กับ “ร.” อันเป็นนามย่อ นครราชสีมา ข้างล่างมีตัวหนังสือไทยเขียนว่า “ท้าวสุรนารี โม.”
"ด้านหลังเหรียญ"มี ซุ้มประตูชุมพล เป็นศาลาเรือนไทยมุงหลังคาสองชั้นลดหลั่นกันลงมาคลุมกำแพงเมืองโคราช ด้านล่างมีตัวหนังสือไทยห้าแถว อ่านว่า “ที่ระลึกในงานฉลองอนุสสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ.2477” รอบๆ เหรียญยกขอบนูนเล็กน้อย
เหรียญท้าวสุรนารี" (โม) หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “เหรียญย่าโม” รุ่นแรก ปี พ.ศ.2477 นั้น มีการจัดสร้างอยู่ 3 เนื้อ ประกอบด้วยเนื้อทองคำ, เนื้อเงินและเนื้อทองแดง โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ในขณะนั้นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายอาจารย์มั่น-พระอาจารย์เสาร์ และท่านเจ้าคุณพระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง นาควโร) เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา ร่วมพิธีปลุกเสก เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงานเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ ท้าวสุรนารี (โม) ซึ่งงานจัดขึ้น 7 วัน 7 คืน จึงนับได้ว่าเป็นสุดยอดเหรียญหลักที่ได้รับความนิยมสูงอีกเหรียญหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ชาวโคราช รักและหวงแหน เหรียญรุ่นนี้กันมากเพราะถือว่านี่คือ “สุดยอดเหรียญแห่งชัยชนะ” นั่นเอง ครับผม