วันที่ 26 ธ.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป ของนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เกี่ยวกับปัญหาการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่าตนมีข้อสังเกตถึงการกำกับธุรกรรมทางออนไลน์ที่เข้าข่ายหลอกหลวงประชาชน สถาบันการเงินหรือธนาคารควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ขอรัฐบาลอย่าเกรงใจนายทุนธนาคาร
นายประเสริฐ กล่าวชี้แจงว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากกฤษฎีกาก่อนจะส่งขอความเห็นชอบจาก ครม. เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ในรายละเอียดของ พ.ร.ก. นั้นจะกำหนดการอายัดและคืนเงิน ให้ทำได้รวดเร็ว ตั้งใจไม่เกิน 6 เดือนคืนได้ แต่วิธีเก่าใช้เวลา 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย ส่วนบัญชีม้าที่ยึดอายัดได้และมีเงินคืน มีที่มาและที่ไปจำนวนมาก หากระงับได้ทันที สามารถทำได้ทันที แต่เงินในบัญชีปรากฎเจ้าทุกข์หลายราย ทั้งนี้มาตรการที่เกี่ยวกับธนาคารนั้น กำหนดให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบเหมือนกับเครือข่ายมือถือ ทั้งนี้ไม่มีความเกรงใจธนาคาร หรือโอเปอร์เรเตอร์ แต่เราเกรงใจประชาชน ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าคณะกรรมการและป้องกันภัยไซเบอร์เราจะเอาใจธนาคาร โดยหลังปีใหม่นี้จะได้เห็น ระบบคลีนซิ่งหากพบข้อความไม่เหมาะสม เป็นภัย หรือข้อความหลอกลวงประชาชน ข้อความต้องถูกยกเลิก หากโอเปอร์เรเตอร์ไม่ทำตาม ต้องมีส่วนรับผิดชอบกรณีที่ผู้เสียหายกดลิงก์ดูดเงิน
“การตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ใช้ความพยายามมาก ส่วนมาตรการของต่างประเทศที่เป็นประโยชน์นำมาใช้ ส่วนที่ของเราใช้และต่างชาตินำไปใช้ก็มี เช่น การปิดกั้นข้อมูลนำเข้าคอมพิวเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้อำนาจของรมต.ตามกฎหมาย ที่สิงคโปร์นำไปใช้ รวมถึงการอายัดบัญชี”นายประเสริฐ กล่าว
นายธีรัจชัย ตั้งคำถามกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปราศรัยหาเสียง อบจ. ที่ จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่า รู้ถึงจุดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ต่างประเทศ เช่น ชั้น25 ที่ปอยเปต หรือ ที่เมียวดี พร้อมระบุว่าส่งคนไปประสานแล้ว หากไม่มีกองกำลังจะส่งกำกลังไป และปีหน้าจะหมดเกลี้ยง มีอำนาจจริงหรือไม่ ตนอยากให้จริง และรัฐบาลมีเป้าหมายจะทำได้จริงหรือไม่เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมออนลไน์
นายประเสริฐ ชี้แจงว่า นายทักษิณมีความเป็นห่วงคนไทย โดยกระทรวงดีอีไม่นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาประสานงานไปยัง ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมา ประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้าไปปราบปรามแก๊งคอลเซ็นต์เตอร์ ทั้งนี้ตนขอบคุณในความห่วงใย รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ฝากตอนท้ายว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ทูต 2 ประเทศว่ามีคนในประเด็นเขาถูกจับและบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซ็นตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยถูกหลอกมาเมืองไทยว่าจะมาท่องเที่ยวและมีงานทำ แต่กลับถูกจับและส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน มีประเทศหนึ่งถูกจับ 13 คน อีกประเทศ 30 คน หากเป็นแบบนี้ทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยวซึ่งไม่เป็นผลดี อยากให้รัฐบาลแก้ไขโดยด่วน