“รทสช.” เดินหน้าลุย ยื่นร่าง“กม.โซลาร์รูฟท็อป”ปลดล็อคพลังงาน ยันปชช.ได้ใช้ไฟถูกแน่  ไม่โกรธ ฉายา “พีระพัง” ย้ำ 1ปีมีผลงาน
 

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) พร้อมสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงว่า วันนี้(25 ธ.ค.)พรรคร่วมไทยสร้างชาติ ยื่นร่างกฎหมายที่ไม่เคยมีในประเทศไทย เข้าสภาฯ คือกฎหมายส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงแดด หรือ“โซลาร์รูฟท็อป” เพื่อช่วยเหลือปลดล็อคค่าครองชีพของประชาชนในการลดค่าไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านมา ทุก 4 เดือน จะต้องมีการปรับราคาค่าไฟฟ้าทุก ๆ 4 เดือน เพราะไฟฟ้าไทยยังต้องใช้เชื้อเพลิงมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ราคาจึงต้องขึ้นกับตลาดโลก และพบว่า การให้ประชาชนหลุดพ้นจากค่าไฟที่แพง จึงต้องสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานจากแสงแดด แต่การติดตั้งของประชาชนในประเทศยังยุ่งยากด้านกฎหมาย มีราคาแพง มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเกี่ยวพัน ใช้เวลานานในการดำเนินการขออนุญาต ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมั่นใจว่า ประชาชนจะสามารถใช้ราคาไฟฟ้าที่ถูกขึ้น และจะส่งผลให้สินค้าอื่น ๆ ถูกขึ้นด้วย เนื่องจาก ราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุน มีราคาถูกลง 

เมื่อถามว่า เห็นฉายา “พีระพัง”ที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาให้หรือยัง โกรธหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า  ตนไม่ได้อ่าน แต่ประชาชนได้ชี้แจงแทนตนเองหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่โกรธ และไม่ได้สนใจ เพราะแทบจะไม่มีเวลาทำงานอยู่แล้ว เรื่องพรรณนี้ตนไม่สนใจ

เมื่อถามว่าการที่ได้รับฉายา “พีระพัง”เป็นเพราะแก้ไขปัญหาด้านพลังงานล่าช้าหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ได้ย้อนถามสื่อมวลชนกลับว่า “แล้วมีใครแก้ปัญหาได้เร็วกว่าผมหรือไม่ และ 1 ปีที่ผ่านมา ผมก็มีผลงาน ก่อนที่สื่อมวลชนจะถามเช่นนี้ ต้องถามก่อนว่า มีใครทำได้เร็วกว่าผม”

เมื่อถามว่าประชาชนมั่นใจได้ใช่หรือไม่ว่าจะใช้พลังงานถูกลงนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า ภายใต้การดูแลของตน ทุกอย่างจะถูกลง ประชาชน และประเทศชาติ จะได้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงจะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้ประชาชน 


เมื่อถามย้ำว่า กฎหมายกว่าจะผ่านออกมามักจะมีความล่าช้า นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “มันไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนคนเดียว ถ้าอยู่ในมือตนคนเดียวพรุ่งนี้เสร็จแล้ว แต่ระบบมันเป็นอย่างนี้ หากอยากจะให้เราตามใจเราก็ต้องแก้ระบบ แก้รัฐธรรมนูญ  ขึ้นตอนคือต้องมีกฎหมายเข้าสภาให้ได้ก่อน ที่สำคัญตอนนี้เราร่างเสร็จแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของประธานสภาฯ ที่จะบรรจุระเบียบวาระให้สามารถหยิบยกขึ้นมาได้ทัน ดังนี้นตรงนี้อย่าถามตน ต้องไปถามประธานสภาฯ” 
เมื่อถามว่ากังวลถึงปัจจัยภายนอกที่จะให้กฎหมายนี้ล่าช้าหรือไม่ เช่น ม็อบ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะตนทำสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ แล้วม็อบจะไม่เอาหรือ แล้วจะมาทำม็อบอะไร

ส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 มาอยู่ที่เฉลี่ย 355 บาท/วัน จะทำให้ต้นทุนแรงงานของธุรกิจเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2% ธุรกิจกลุ่มที่มีการใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูงน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร ก่อสร้าง โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีก-ค้าส่ง และการผลิต ขณะที่ในเชิงพื้นที่ ผลกระทบอาจแตกต่างกันออกไปไปข้างหน้า ค่าแรงขั้นต่ำยังมีแนวโน้มจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก การเร่งยกระดับผลิตภาพแรงงาน รวมถึงปรับโครงสร้างการผลิตสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจต้องดำเนินการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ น่าจะทำให้ต้นทุนแรงงานของธุรกิจปรับเพิ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2% (กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่)  และอาจกระทบมาร์จิ้นธุรกิจให้ลดลง ท่ามกลางปัจจัยด้านเศรษฐกจิที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่องกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระดับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจแตกต่างกันไป ดังนี้ 1) การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คาดว่าจะกระทบภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูงเนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักจะจ่ายค่าจ้างอิงตามค่าจ้างขั้นต่ำ (น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน) โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร (76% ของการจ้างงานทั้งหมด) โรงแรมและร้านอาหาร (46%) ก่อสร้าง (46%) การผลิต (36%) และค้าปลีก-ค้าส่ง (35%) อย่างไรก็ดี ผลสุทธิของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นอกเหนือจากการมีสัดส่วนการใช้แรงงานที่อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำสูงแล้ว คงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสร้างรายได้และบริหารจัดการต้นทุน การปรับราคาขายสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการปรับตัว เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการ SMEs จากการกระจายความเสี่ยงด้านต้นทุนสามารถทำได้ดีกว่า รวมถึงธุรกิจการผลิตอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสามารถปรับไปใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้คล่องตัวกว่าภาคบริการหรือภาคเกษตร เป็นต้น

2) ในมิติด้านพื้นที่ การปรับเพิ่มค่าจ้างรอบนี้ตั้งแต่ 7-55 บาท ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของแต่ละจังหวัดจะเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากอาจมีต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงกว่ากิจการประเภทเดียวกันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างอำเภอเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากที่สุดถึง 15% รวมถึงอำเภอเมือง (เชียงใหม่) และอำเภอหาดใหญ่ (สงขลา) ที่ปรับเพิ่ม 9-10% จากอัตราเดิม

ส่วนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง แม้จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8-14% จากอัตราเดิม แต่คาดว่าผลกระทบอาจจำกัดในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ EEC เนื่องจากปัจจุบันกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มักจะเป็นธุรกิจผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีการจ้างงานแรงงานวิชาชีพที่มีระดับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ สะท้อนจากค่าจ้างสำหรับแรงงานระดับ ปวส. และอนุปริญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 20,368 บาท/เดือน รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีทุ่นแรงอย่างระบบ Automation/ Robotics ทำให้ธุรกิจผลิตในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ปัจจุบันต้นทุนแรงงานของไทยสูงกว่าบางประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม (รูปที่ 3) ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged Society) เร็วกว่าหลายประเทศในอาเซียน อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่า ทำให้ในระยะข้างหน้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของไทย จำเป็นต้องอาศัยทักษะแรงงานมีฝีมือและปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆเป็นหลัก