“รมว.นฤมล” โชว์ผลงาน ก.เกษตรฯ 1 ปี ลุยแผนงานปี 68 ตั้งเป้ามอบ “โฉนดเพื่อการเกษตร” ให้ครบ 22 ล้านไร่ เล็งสร้าง “ชาวนาอาสา” เป็นผู้ช่วยกรมข้าว
วันที่ 25 ธ.ค.67 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการดำเนินงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2567 และแผนงานสำคัญปี 2568 พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งให้เกษตรกรไทยมีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง ในงาน 1 ปีจุดพลังเกษตรไทย 2568 ก้าวต่อไปเพื่อเกษตรกร โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย มุ่งเน้นเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง การจัดการที่ดินทำดินให้เกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ ดึงจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของเกษตรกร ตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ การดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯที่สานต่อจากอดีตรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คือ การจัดที่ดินทำกินแก่เกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร 1,066,643 แปลง ให้เกษตรนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ออกหนังสือ ส.ป.ก. 4-01 333,897 ฉบับ (95%) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าให้ครบ 22 ล้านไร่ในปี 68-69
ในส่วนของกรมการข้าว ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องกับเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการผลิตข้าวด้วย ตนเอง ให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน ปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนแล้วทั้งสิ้น 4,985 แห่ง ครอบคลุมเกษตรกร 150,000 ครัวเรือน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวน 200,000 ตัน ซึ่งในปี 68 จะมีการเพิ่มศูนย์ข้าวชุมชนอีก 2,500 แห่ง จะสามารถครอบคลุมเกษตรกร 255,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการผลักดันให้เกิดชาวนาอาสา ที่เปรียบเสมือนอาสาสมัครเกษตรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำเกษตรกร เกี่ยวกับกิจกรรมการผลิตข้าว และช่วยเหลืองานของกรมการข้าว โดยมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือโครงการของกรมการข้าวให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งประสานงาน ช่วยเหลือ และให้ข้อเสนอแนะแก่กรมการข้าว รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาด้านข้าวของเกษตรกรในหมู่บ้านหรือชุมชน
อย่างไรก็ดี กระทรวงเกษตรฯ ยังมีความสำเร็จในการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สินค้าสัตว์ปีก เนื้อเป็ดปรุงสุก และโคมีชีวิต เป็นต้น ส่งผลให้มีมูลค่าส่งออกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นประมาณ 1,230 ล้านบาทต่อปี การพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร พัฒนาศักยภาพเกษตรกร ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (ด้านพืช ปศุสัตว์ หม่อนไหม และบัญชี) รวม 27,824 ราย ส่งเสริมการสร้างพลังในชุมชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ 33,022 ราย ส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ธุรกิจชุมชน และวิสาหกิจชุมชน รวม 14,368 แห่ง
“กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินการในเรื่อง ๆ ต่าง อีกมากมาย เช่น กรมประมง ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดเพิ่มสูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มรวม 18,498.66 ล้านบาท อาทิ ยางพารา ข้าว และทุเรียน เป็นการเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทย แะพัฒนาความร่วมมือด้านเกษตรต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแผนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ในปี 2568 จะยังคงสานต่อ 9 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ และพร้อมจับมือกับทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย มุ่งเน้นเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง การจัดการที่ดินทำดินให้เกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ ดึงจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทย