คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามมาตรา 39/1ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพิ่มเติม โดยมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มีกรธ.ทั้งสิ้น 21 ราย โดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธานกรธ.ทำหน้าที่ร่างรัฐธรมนูญให้แล้วเสร็จ
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เริ่มที่จะได้เห็นรูปร่างลางๆ ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับกันบ้าง ทั้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ซึ่งในส่วนของกรธ.นั้น นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ก็ได้ชี้แจงว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงสุดท้าย ซึ่ง กรธ.กำลังทบทวนรายละเอียดในแต่ละมาตรา ที่เกี่ยวโยงกันว่ามีตรงไหนที่ขัดกันหรือไม่ เบื้องต้นเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังต้องปรับแก้อีกเล็กน้อย และหากเสร็จสมบูรณ์ก็จะเปิดเผยต่อสาธารณชนและสามารถส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปศึกษาดูก่อนได้ คาดว่าจะเสร็จภายในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าเป็นร่างฉบับสมบูรณ์นั้น ประธาน กรธ.บอกแล้วว่าจะส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้ สนช.ทันทีหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วในวันถัดไป
และเมื่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจนเจียนใกล้จะเสร็จ ก็เริ่มที่จะได้ยินเสียงเรียกร้องหนาหูมากขึ้นในเรื่องของการที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคประกาศคสช.ในเรื่องห้ามทำกิจกรรมพรรค ที่ดูเหมือนว่า กรธ.พูดไปคนละทิศ คนละทาง
โดยนายนรชิต ก็ออกมายืนยันว่า กรธ.ไม่มีการเซตซีโร่พรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรค และเชื่อว่าการเลือกตั้งก็ยังเป็นไปตามโรดแมป และถ้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้พรรคการเมืองก็จะสามารถทำกิจกรรมได้ทันที แต่ในอีกด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ.คนที่ 1กลับไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากเห็นว่ากำหนดเวลาที่พรรคการเมืองจะเริ่มทำกิจกรรมได้ อาจจะถูกลากยาวออกไปจนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับซึ่งมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งถูกประกาศบังคับใช้ก็ได้ เพราะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ว่าคสช.จะพิจารณาอย่างไร
ขณะที่นายมีชัย ประธานกรธ.เองก็เห็นว่า การที่จะปลดล็อกพรรคการเมือง โดยรอให้กฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จก่อนนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเข้าสู่ระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งเชื่อว่า คสช. จะดูแลในเรื่องกำหนดเวลาที่เหมาะสม คงจะไม่เกิดปัญหา
ฝั่งของการเมืองในส่วนพรรคเพื่อไทยที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรค ก็เห็นควรว่า ถึงเวลาแล้วที่ คสช.ควรจะปลดล็อคพรรคการเมืองได้แล้ว เพราะร่างกฎหมายลูกที่ กรธ.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทั้งสิ้น อีกทั้งหาก กรธ.อยากได้ความคิดเห็นจากพรรคการเมือง ก็ควรให้พรรคการเมืองได้จัดประชุม ให้สมาชิกพรรคได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้ความเห็นจากพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ
รวมถึงในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายพรรคการเมือง ก็มีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน ถามว่าใครจะไปทำทัน ดังนั้นควรเปิดให้พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมควบคู่กันไป ในส่วนของพรรคการเมืองเองจะเวลาสื่อสารกับสมาชิกพรรคถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ในส่วนนักการเมืองคนสำคัญ อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนถึงท่าทีของคสช. ด้วยว่า ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจไม่ได้มีเจตนาให้เกิดสิทธิและเสรีภาพของนักการเมืองและประชาชนที่จะให้สื่อสารกันมากนัก ไม่ได้เดินไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ใช้แต่คำพูด และกฎหมายก็เป็นองค์ประกอบให้เกิดความสมานฉันท์ซึ่งคสช.ต้องทำให้ชาติเดินไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
"ประเทศไทยติดหล่มเป็นเวลานาน และ คสช.ให้สัญญาว่าจะทำให้ประเทศเดินหน้าและทำให้เป็นประชาธิปไตย แต่เท่าที่ดำเนินการมานั้นยังไม่เห็นชัดเจนว่าจะทำตามโรดแมปนั้น"
จากนี้ไปอยากให้ผู้มีอำนาจสร้างความเข้าใจ หาความร่วมมือระหว่างผู้มีอำนาจ ประชาชน และพรรคการเมือง เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วม หากคิดแต่จะกำจัดทางการเมือง ไม่ฟังความเห็นนั้น อาจจะดูเรียบร้อยในช่วงนี้ แต่พอถึงการเลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาได้เพราะไม่ได้มาจากการร่วมมือ
"อย่าคิดว่าฉันคือกฎหมาย ฉันจะเอาแบบนี้ ก็เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลก ลูกตุ้มมันเอียงไปด้านใดมากจนเกินไป ท้ายที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้"
รวมถึงก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องให้คสช.ปลดล็อคประกาศคสช.มาเป็นระยะ ที่เริ่มจั่วหัวมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการจัดประชุมชี้แจงพรรคการเมือง เรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน" ซึ่งครั้งนั้นมีตัวแทนรัฐบาล กกต.และฝ่ายการเมือง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เรียกร้องให้คสช.ผ่อนปรนประกาศเพื่อที่พรรคการเมืองจะได้ทำกิจกรรมได้ก็ไม่เป็นผล
แต่ฝั่งผู้มีอำนาจอย่างรัฐบาลเอง ก็มียังมีท่าทีไม่ผ่อนปรนอะไร ทั้งยังมีการย้ำ หรือเตือนแบบชัดเจน จากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ก็ได้ประกาศลั่นชัดเจน ยังไม่อนุญาต เมื่อถึงเวลาจะอนุญาตเอง เพราะอีกตั้งปีกว่าจึงจะมีการเลือกตั้ง รวมถึงส่วนนักการเมืองเกรงว่าจะดำเนินการหลายอย่างไม่ทันตามบทเฉพาะกาล หากไม่ทันก็ไม่ต้องเข้า ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้จะให้ทำอย่างไร เพราะวันนี้ก็เปิดพื้นที่มากอยู่แล้ว จะเอาอะไรกันอีก เอาไว้ก่อน
แม้วันนี้จะมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองให้ ให้ปลดล็อคประกาศคสช.จะมีมากเท่าไหร่ก็ตาม หากแต่ผู้ที่กำหนดทุกอย่างนั้นคือรัฐบาล หากบอกไม่พรรคการเมืองเองคงได้แต่อยู่นิ่งๆ อยู่มุมของตัวเองเท่านั้น
สำหรับระยะเวลาในการประกาศใชกฎหมายลูก เมื่อนายกรัฐมนตรี ได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ระบุให้รอการโปรดเกล้าฯ ภายในระยะเวลา 90 วัน หากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีผล
กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับซึ่งรวมถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ต้องเร่งดำเนินการ โดยสนช.จะเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด ภายในระยะเวลา 60 วัน ถ้า 60 วันพิจารณาไม่เสร็จ ถือว่าร่างกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ได้ทันที
และเมื่อกฎหมายลูก 4 ฉบับประกาศใช้ ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยบอกไว้ จะมีการเลือกตั้งในช่วงเวลาไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เข้ามาสอดแทรก ส่วนอีก 6 ฉบับที่เหลือให้ร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้