วันที่ 25 ธ.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการปรับปรุงสะพานเขียว หรือทางเดินลอยฟ้าเชื่อมจากสวนลุมพินีบริเวณแยกสารสินถึงสวนเบญจกิติ ว่า จุดสำคัญคือการปรับปรุงทางขึ้นลงสะพานที่มีความชันสูง ให้มีความลาดเอียงลงมาในอัตราทางลาด 1 ต่อ 12 หรือระยะแนวราบ 12 เมตรต่อความสูง 1 เมตร ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ผู้ใช้รถจักรยาน ผู้ใช้รถวีลแชร์ และผู้พิการด้านต่าง ๆ สามารถขึ้นลงได้สะดวก ปลอดภัย พร้อมเชื่อมต่อทางสัญจรเพิ่มเติม จากจุดทางลงสวนเบญจกิติไปยังรัชดาภิเษก โดยใช้เส้นทางเลียบคลองไผ่สิงโตบริเวณข้างสวนเบญจกิติ ให้จักรยานและผู้พิการสามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยตลอดเส้นทางในโครงการทั้งหมด จะมีจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น จุดเชื่อมสวนเบญจกิติบริเวณทางด่วนเฉลิมมหานครและถนนดวงพิทักษ์ จุดเชื่อมสวนเบญจกิติบริเวณถนนรัชดาภิเษก จุดเชื่อมสวนเบญจกิติบริเวณซอยสุขุมวิท 4 เป็นต้น ปัจจุบันมีการออกแบบแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.68

 

"การปรับปรุงจุดต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง นโยบายหลักคือสามารถเดินและใช้วีลแชร์ได้ ส่วนจุดใดสามารถขยายความกว้างได้ก็จะทำให้จักรยานสามารถผ่านได้เช่นกัน ยังมีบางจุดที่ต้องทำทางขึ้นลงเพื่อความสะดวกของผู้พิการ รวมถึงจุดจอด-จุดให้บริการรถจักรยานสาธารณะ สร้างการสัญจรทางเลือกเพิ่มเติม"

 

ด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นการปรับปรุงก่อสร้างสะพานเขียว เพื่อให้มีประโยชน์ต่อผู้พิการ ผู้ใช้รถวีลแชร์ และผู้ใช้รถจักรยาน จุดปรับปรุงหลักคือ ทางลาดที่มีความชัน จะปรับปรุงให้มีความสะดวกและสวยงามมากขึ้น โดยการปูพื้นด้วยหินแกรนิตที่มีความทนทาน เคลือบทับด้วยวัสดุอะครีลิคและกรวดป้องกันการลื่นล้มระหว่างปั่นจักรยาน พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่าง และเก้าอี้นั่งพักเป็นระยะตลอดเส้นทางประมาณ 1,600 เมตร พร้อมก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อจากสวนเบญจกิติถึงรัชดาภิเษก ปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มก่อสร้าง เนื่องจากที่ผ่านมาติดการก่อสร้างโครงการอื่น ซึ่งมีการพร่องน้ำเพื่อการก่อสร้าง ทำให้โป๊ะเรือตอกเสาเข็มโครงการปรับปรุงสะพานเขียวไม่สามารถทำงานได้ ล่าสุดเข้าพื้นที่ได้แล้ว โดยแผนปรับปรุงเส้นทางแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระยะทาง 700 เมตร ช่วงที่ 2 ระยะทาง 600 เมตร ช่วงที่ 3 ระยะทาง 300 เมตร ออกแบบให้มีเลนจักรยาน ทางเดินวิ่ง และผู้พิการสามารถใช้ร่วมกัน รวมถึงมีการติดตั้งลิฟต์ 2 ตัว สำหรับผู้พิการบริเวณแยกสารสิน ปัจจุบันมีการทดสอบการรองรับน้ำหนักของโครงสร้างสะพานเดิมไปแล้ว สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมตามแผนได้