ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ข่าวกรมศิลปากรเตรียมดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ราชรถองค์หนึ่งที่จะทำการบูรณะคือ พระมหาพิชัยราชรถ ประวัติพระมหาพิชัยราชรถองค์นี้ ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ขอข้ามไป ในส่วนตรงนี้นำเกร็ดความรู้ “ต้นกำเนิดในการใช้ราชรถในกระบวนแห่พระบรมศพ” ในสมัยอยุธยา โดยข้อมูลหนังสือ “เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 2539” หยิบบางช่วงตอนมานำเสนอแบบกระชับพื้นที่ ราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งองค์พระราชา จากคติความเชื่อที่ว่า ชีวิตของคนที่เกิดมาในช่วงเวลาที่สำคัญในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จะมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นระยะๆ เช่น พิธีสมโภชเดือน พิธีโกนจุก พิธีบวช และในที่สุดคือ พิธีศพ ซึ่งจะมีการประกอบพิธีตามฐานะของแต่ละบุคคล ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะจัดพิธีศพอย่างใหญ่โต เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของผู้ล่วงลับไปให้เป็นที่ปรากฏ อีกเป็นการให้บุตรธิดาได้แสดงความกตัญญูสนองคุณบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้าย และเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย ได้อานิสงส์ไปจุติในสรวงสวรรค์ ดังนั้นการประกอบพิธีศพจึงมีความสำคัญมากพิธีหนึ่ง งานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ จึงมีความยิ่งใหญ่เช่นกัน ทั้งการสร้างยานพาหนะที่จะอัญเชิญพระบรมศพ หรือการสร้างพระเมรุมาศที่จะเป็นที่ถวายพระเพลิง ก็ล้วนแต่มีความวิจิตรงดงาม สมพระเกียรติ และราชรถที่ใช้ในพระบรมศพปรากฏชื่อในสมัยอยุธยา เรียกว่า มหาพิชัยราชรถ จึงทำให้คิดว่า พระมหาพิชัยราชรถนั้น เดิมทีอาจจะมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เฉพาะการพระบรมศพแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้ในพระราชพิธีอื่นๆ ด้วย อาทิ พระราชพิธีกรานกฐินในเดือน 11 สำหรับการใช้พระมหาพิชัยราชรถในงานพระบรมศพ หรืองานพระเมรุมาศในสมัยอยุธยานั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารตามลำดับเวลาดังนี้ พ.ศ. 2225 พระเพทราชา แต่งการพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในพระโกศทองคำสู่มหาพิชัยราชรถอลงกต เทียมด้วยม้าต้น 2 คู่สู่พระเมรุ พ.ศ. 2244 สมเด็จพระเจ้าเสือ อัญเชิญพระบรมศพพระเพทราชาสู่มหาพิชัยราชรถปิลันทนา พร้อมด้วยม้าต้น พ.ศ. 2249 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ให้เชิญพระบรมโกศพระบรมศพพระเจ้าเสือขึ้นบนพระมหาพิชัยราชรถ เสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตแห่แหนพระบรมศพไปตามรัถยาราชนิวัติเข้าสู่พระเมรุมาศ พ.ศ. 2279 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงจัดการพระศพ เจ้ากรมหลวงโยธาเทพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ แห่แหนเป็นกระบวนเข้าไปในพระเมรุ เหตุการณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า พระมหาพิชัยราชรถได้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และจากการศึกกับพม่าใน พ.ศ. 2310 ทำให้พระมหาพิชัยราชรถ และราชยานอื่นๆ อันตธานสูญหายไป ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในงานพระเมรุของพระปฐมบรมชนกนาถของพระองค์ โดยทรงสร้างตามแบบที่มีมาแต่โบราณทุกอย่าง รวมทั้งราชรถน้อยที่ใช้ในกระบวนแห่พระโกศด้วย และต่อมาได้สร้างเวชยันตราชรถเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง และได้ใช้มาตลอดจนปัจจุบัน ลักษณะการจัดงานพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ใช้พระมหาพิชัยราชรถตั้งแต่รัชกาลที่ 1 สามารถศึกษาได้จากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ทรงนิพนธ์ไว้ ตอนพระยาพิเภกอัญเชิญพระบรมศพทศกัณฐ์ขึ้นพระมหาพิชัยราชรถเข้าริ้วกระบวนแห่ไปยังพระเมรุมาศโดยมีรถโยง รถนำตาม นอกจากนี้ วรรณคดีเรื่องอิเหนา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงนิพนธ์ ตอน งานพระบรมศพท้าวหมันหยา ทำให้เราสามารถศึกษาถึงลักษณะของการจัดริ้วกระบวนแห่พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ (อ้างแล้ว) อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนใจในเรื่องราวรามเกียรติ์ ริ้วกระบวนแห่พระบรมศพ สามารถดูและศึกษาได้ที่จิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง ส่วนตรงนี้นำภาพจิตรกรรมดังกล่าวมาให้ชม ริ้วกระบวนแห่ศพทศกัณฐ์ไปสู่พระเมรุ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะการจัดกระบวนแห่พระบรมศพด้วยพระมหาพิชัยราชรถ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทศกัณฐ์เผาศพอินทรชิต จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะการจัดกระบวนแห่พระบรมศพ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม