"รมว.นฤมล” ประกาศความสำเร็จ มกอช.เจรจาบรรลุข้อตกลง SPS ไทย-โสมขาว เปิดประตูการค้าเกษตรไทยสู่ตลาดเกาหลี สนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

วันที่ 25 ธ.ค.67 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) และความร่วมมือด้านการเกษตรในภาพรวม โดยเฉพาะความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งถือเป็นประเด็นทางเทคนิคที่สำคัญสำหรับการค้าสินค้าเกษตร จึงต้องมีการหารือจัดทำความตกลงด้าน SPS เพื่อสร้างข้อตกลงทวิภาคีที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นความสำคัญ และสร้างผลประโยชน์ระหว่าง 2 ฝ่ายได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะในมิติของความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเกาหลี และใบรับรองสุขอนามัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าสินค้าเกษตร และประมง ระหว่างไทย-เกาหลี มีมูลค่ารวมกว่า 57,509 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปยังเกาหลีมูลค่า 42,238 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากเกาหลีมูลค่า 15,271 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับเกาหลีเป็นมูลค่ากว่า 26,967 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปของไทยในตลาดเกาหลีที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของไทยในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเสริมว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายและมาตรฐานสินค้าเกษตร (กนม.) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Working Group on SPS) เพื่อเจรจาจัดทำบทมาตรการ SPS ภายใต้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-เกาหลี (KTEPA) ครั้งที่ 3 โดยมี นาย Jongsoo Ha ผู้อำนวยการทีมความตกลงการค้าเสรี กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท สาธารณรัฐเกาหลี (MAFRA) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายเกาหลี ณ โรงแรม Centara Grand at Central World

โดยในการประชุมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จในการเจรจา และจัดทำข้อตกลง SPS เสร็จสิ้น พร้อมเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกันภายใต้ KTEPA ข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดเกาหลี ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะผลไม้สด และสินค้าประมง เนื่องจากมีกลไกที่ช่วยผลักดันการเปิดตลาดได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นเวทีเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทย และเกาหลี 

​​​​​​​

“มกอช. ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาภายใต้ KTEPA ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในฐานะผู้นำด้านการค้าสินค้าเกษตรระดับโลก และสนับสนุนนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen to the World) ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ มกอช. กล่าว