เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ แพร่บทความเรื่อง “หลักคิดทางกฎหมายเรื่องอำนาจบริหารโทษของราชทัณฑ์” มีรายละเอียดดังนี้
เรื่องที่ ๑ : จำคุกที่บ้าน?
ถาม เมษานี้ ยิ่งลักษณ์กลับไทยแล้ว เข้าเรือนจำแล้ว ราชทัณฑ์ให้ไปจำคุกที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”ได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ครับ เรื่อง “คุมขังนอกเรือนจำ” ต้องมีระเบียบกำหนดเป้าหมายทางทัณฑวิทยาก่อน เช่นถ้าต้องการคุมขังฟื้นฟูคนติดยา ระเบียบเรื่องนี้ก็กำหนดต่อไปว่า เป็นค่ายทหาร หรือวัด หรือบ้าน ที่เข้าเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ จากนั้นจึงมีประกาศราชทัณฑ์กำหนดที่คุมขังคนติดยาเป็นแห่งๆไป เช่นค่ายราบ ๑๑ หรือ วัดพระบาทน้ำพุ หรือหากชินวัตรมีใจบุญ อุทิศบ้านจันทร์ส่องหล้าเข้าโครงการ ก็ทำได้ เมื่อประกาศให้เป็นที่คุมขังนอกเรือนจำแล้ว ถ้า ยิ่งลักษณ์ ติดคุกฐาน เสพยา ดังนี้ก็สามารถถูกส่งตัวมารักษาที่จันทร์ส่องหล้า ร่วมกับผู้ติดยาอื่นๆได้
ถาม อ้าว..อย่างนี้มันไม่ใช่ให้กลับไปติดคุกที่บ้าน อย่างเช่นที่เข้าใจกันนี่ครับ
ตอบ ครับ...เข้าใจกันผิดๆทั้งนั้น ขืนทำกันไปเจ้าหน้าที่ก็ติดคุกแน่นอน หรือถ้าหน้าด้าน ออกระเบียบผิดไปจากระบบกฎหมายนี้ ก็ใช้บังคับไม่ได้เช่นกัน ปัญหาระเบียบถูกกฎหมายหรือไม่นี้ คณะกรรมาธิการสภาควรเร่งเรียกระเบียบนี้มาไต่สวนได้แล้ว
เรื่องที่ ๒ : ทักษิณติดคุกแล้ว?
ถาม เห็นอาจารย์วิษณุ บอกว่า เมื่อครั้งตนเป็นรักษาการรัฐมนตรียุติธรรมนั้น ได้สั่งการและลงไปดูสถานที่คุมขังจนเรียบร้อย แล้วเห็นกับตาว่าทักษิณเดินเข้าห้องธุรการแรกรับนักโทษ จากนั้นก็มีลูกหาบออกมารับลูกว่า ทักษิณติดคุกแล้ว ออกหมายขังจับตัวไปขังใหม่อีกไม่ได้ ฝ่ายรัฐมนตรีทวี ก็ออกมาขยายต่อไปอีกว่า เวลาที่อยู่โรงพยาบาลตำรวจชั้น ๑๔ นั้น ต้องนับเป็นวันถูกขังแล้วด้วย เขารับกันเป็นลูกระนาดอย่างนี้ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ครับ
ตอบ ไม่ถูกครับ..เป็นเรื่องบิดเบือนกฎหมายชัดๆ คดีนี้ไม่ได้มีปัญหาตรงที่ทักษิณติดคุกแล้วหรือไม่ ถ้าติดแล้วจะติดกี่ชั่วโมง กี่วัน ก็ไม่ใช่ประเด็น ปัญหามันอยู่ที่การส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ คือที่ชั้น ๑๔ รพ.ตำรวจนั้น เป็นการส่งตัวที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้องคือป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิตจริง อย่างนี้ก็ต้องถือว่า ๑๘๐ วัน นั้น เป็นเวลาที่ถูกคุมขังตามหมายขังแล้ว แต่ถ้าไม่ป่วยจริง แท้จริงเป็นความทุจริตช่วยเหลือนาย ให้ไปนอนชั้น ๑๔ สบายๆเหมือนกับนอนโรงแรมเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ผิดแน่นอน ใครจะบิดเบือนเป็นอื่นไปไม่ได้
เรื่องที่ ๓ : “ศาล” ในคดีชั้น ๑๔?
ถาม คดีชั้น ๑๔ นี้ จะไปถึงศาลไหนได้บ้างครับ
ตอบ มีสองศาล คดีเจ้าหน้าที่ทุจริตนั้น จาก ปปช.ก็ไปอัยการ แล้วไปศาลคดีทุจริต จบด้วยการลงโทษเจ้าหน้าที่ อีกคดีหนึ่งจะไปศาลที่ออกหมายขัง คือศาลฏีกาคดีอาญานักการเมืองที่ออกหมายขังไว้ให้จำคุกทักษิณ ๑ ปี เมื่อการอยู่ รพ.ตำรวจนั้น ไม่ถูกต้องไม่ป่วยจริงก็ต้องนำพฤติการณ์นี้ไปให้ศาลไต่สวน แล้วสั่งออกหมายขังใหม่ ให้นำตัวไปขังเสียใหม่ให้ถูกต้อง
ถาม คดีขังใหม่นี้ ต้องรอผลยุติคดีทุจริตหรือไม่
ตอบ ไม่ต้องรอครับ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องทำให้ชอบคือให้ศาลไต่สวนเอามาขังใหม่ได้เลย ส่วนคดีทุจริตมันเป็นเรื่อง “ความมิชอบด้วยกฎหมาย+ความชั่วในใจที่ทุจริตมุ่งช่วยเหลือกัน” โดยสมการทางคดีอย่างนี้ แม้ใครจะเกี่ยวข้องแต่ถ้าไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยเช่น เป็น ผบ.เรือนจำ ที่สั่งอนุญาตให้นักโทษไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ถูกต้องเพราะนักโทษไม่ป่วยจริงก็ตาม แต่ในที่สุดถ้า ปปช.ตรวจสอบแล้วพบว่าเขาถูกหมอแหกตา อย่างนี้เขาต้องก็หลุดคดีไป เพราะไม่มีความชั่วในใจคือไม่ได้ทุจริตมุ่งช่วยเหลือนักโทษด้วยนั่นเอง
ถาม ขออีกเรื่องหนึ่งครับ มาวันนี้ผมเห็นฝั่งลูกหาบพูดกันระงมไปหมดว่า คดีชั้น ๑๔ ยุติเด็ดขาดแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องเรื่องนี้แล้ว
ตอบ คดีชั้น ๑๔ มันไปได้สองคดีสองศาลเช่นที่ผมกล่าวมาเท่านั้น คือขังไม่ครบหมาย กับเจ้าหน้าที่ทุจริต ส่วนเรื่องล้มล้างทำลายรัฐธรรมนูญนั้นมันไกลลิบเกินกว่าจะสรุปเช่นนั้นได้ ศาลรัฐธรรมนูญท่านไม่รับฟ้องก็ถูกต้องแล้ว ใครจะฉวยโอกาสเอามาอ้างกันมั่วไปหมดอย่างนี้ไม่ได้
เรื่องที่ ๔ : อำนาจศาลที่จะออกหมายขังใหม่
ถาม เอาหลักอะไรมาอ้างว่า ศาลมีอำนาจไต่สวนแล้วออกหมายขังใหม่ได้ ถ้าพบว่าไม่มีการคุมขังตามหมาย
ตอบ หลักในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาครับ ตามมาตรา ๒๔๖ ระบุว่า การทุเลาการลงโทษเพราะนักโทษเจ็บป่วยอันตรายถึงชีวิต ต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ให้ทำโดยราชทัณฑ์ หรือ ฝ่ายนักโทษยื่นคำร้องต่อศาล หรือศาลเห็นเอง พอศาลสั่งแล้ว การนับโทษก็จะสะดุดหยุดลงทันที ภายหน้าหากหายป่วยฟื้นกลับรอดชีวิตมาได้ ก็ต้องกลับเข้าเรือนจำแล้วนับโทษต่อไปอีก มาตรานี้นี่เองครับที่ยืนยันว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบการขังตามหมายขังของตนได้ ไม่ใช่ว่าพิพากษาจำคุกไปแล้วราชทัณฑ์จะทำอะไรไปตามอำเภอใจก็ได้
ถาม เรื่องทักษิณไม่ถูกคุมขังตามหมายนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง จะเริ่มคดีได้อย่างไร
ตอบ เมื่อเป็นหมายศาล ศาลออกเองกับมือ ศาลก็เริ่มไต่สวนได้เอง หรือหากเกรงว่าจะถูกครหาว่าเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จะรอให้มีผู้ร้องพร้อมการชี้ช่องที่น่าเชื่อถือก่อนก็ได้ครับ
ถาม เมื่อไหร่ศาลจึงจะถือได้ว่า มีมูลพอให้ไต่สวนได้แล้ว
ตอบ วันนี้ ปปช.มีมติว่าคดีมีมูลแล้ว ต้องใช้เวลามีมติเรียกเอกสารหลักฐาน (พร้อมโทษอาญาหากขัดขืน)อีกไม่เกิน ๒ เดือน เท่านี้ก็น่าจะพอสรุปเป็นคำกล่าวโทษเฉพาะบุคคล ส่งให้เขาแก้ตัวได้ ถึงเวลานั้นศาลก็น่าจะหมายเรียกพยานหลักฐานจาก ปปช. มาเริ่มไต่สวนได้ หรือถ้าผลการตรวจสอบเวชระเบียนของแพทยสภา ออกมาพอดีว่าหมอที่เกี่ยวข้องตรวจรักษาอาการทักษิณโดยบิดเบือน เช่นนี้ก็ยิ่งมีน้ำหนักให้ศาลรวบรวมมาลงมือไต่สวนได้อีกมาก
ทั้งหมดนี้เชื่อได้ว่าไม่เกินกลางปีหน้า เราก็น่าจะเห็นการใช้อำนาจไต่สวนนี้ของศาลได้แล้ว
ถาม เราจะสะสางกันอย่างไร ให้การใช้อำนาจราชทัณฑ์ ทั้ง อภัยโทษ ทุเลาโทษ คุมขังนอกเรือนจำ และ พักโทษ มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือกว่าที่เป็นอยู่
ตอบ ต้องทบทวนทั้งหมด ให้กรอบอำนาจชัดเจนกว่านี้ ให้ศาลตรวจสอบได้มากกว่านี้ งานสำคัญงานนี้ ทั้ง ปปช., คณะกรรมาธิการสภา และที่สำคัญคือ คณะนิติศาสตร์ ต้องรู้จักเป็นเดือดเป็นร้อนค้นคว้า และนำเสนอแทนประชาชนมากกว่านี้ บ้านเมืองเราถึงจะมีอนาคตข้างหน้าได้ -