โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ประสบความสำเร็จ ขยายผลสร้างงานสร้างอาชีพให้ราษฎร
นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมคณะ เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อปี 2514 ให้จังหวัดเพชรบุรี จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อจัดให้ราษฎรที่เคยอาศัยอยู่ในนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชรเข้ามาทำกิน โดยให้ครอบครัวละ 15 ไร่ และดำเนินงานในลักษณะหมู่บ้านสหกรณ์ ต่อมาในปี 2519 มีการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติม โดยใช้ที่ดินที่ติดกับโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย เพื่อให้บุตรหลานของสมาชิกในโครงการฯ และราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้เข้ามาอยู่อาศัยทำกิน และจัดตั้งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 พื้นที่ทั้งหมด 3,990 ไร่ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1 ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ เนื้อที่ 2,581 ไร่ และโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง เนื้อที่ 1,409 ไร่
นางสาวสมฤดี สุขสมงาม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชบุรี เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอท่ายางได้ส่งเสริมอาชีพราษฎรในพื้นที่โครงการฯ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ นับตั้งแต่การฝึกอบรมด้านอาชีพ ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการแปรรูป เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทำข้าวเกรียบใบหม่อน การทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจากใบหม่อน การทำสบู่โปรตีนจากรังไหม ประสบความสำเร็จด้วยดี ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นประจำจังหวัดเพชรบุรี และรางวัลหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาคเอกชนดีเด่น ในสาขาภาคีเครือข่าย “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านวังพลับ อำเภอท่ายาง ที่ผ่านมามีชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเดินทางเข้ามาฝึกอบรมจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมการขายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร จึงจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในนามสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด เป็นสหกรณ์ที่รวมกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ มารวมกัน”
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด ดำเนินการใน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจสินเชื่อ 2. ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ประกอบด้วยปุ๋ยเคมี เคมีเกษตร อาหารสัตว์ ข้าวโพด และข้าวสาร 3. ธุรกิจรวบรวมผลิตผล ส่วนใหญ่เป็นสับปะรด 4. ธุรกิจสับปะรดปัตตาเวียและแกะตา โดยมีแปลงสาธิตแปลงสาธิตการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ และ 5.ธุรกิจแปรรูปน้ำดื่ม ซึ่งผ่านการประเมินผลมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และที่ผ่านมาพบว่าผ่านมาตรฐานระดับดีเลิศ(A) มีผลการจัดระดับชั้นสหกรณ์อยู่ในระดับ 2
นางสาวอภิญญา หน่อพันธุ์ เกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ผักปลอดภัย ในโครงการตามพระราชประสงค์ดอยขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เผยว่า ได้รับการอบรมถึงวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบน้ำนิ่งจากทางโครงการฯ จากนั้นนำมาทำที่บ้านเป็นอาชีพเสริม ส่วนอาชีพหลักเป็นพนักงานประจำบริษัทเอกชน ต่อมาการผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ ประสบความสำเร็จตลาดมีความต้องการมากขึ้น ทำให้ขายได้ดี มีผลกำไร จึงลาออกจากงานประจำมาปลูกผักอย่างเต็มตัว ผักที่ปลูกประกอบด้วย กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักคอส กรีนคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโครอลหรือ ผักกาดหอม โดยส่งให้สหกรณ์ดอนขุนห้วย จำกัด ขาย “ความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัด เพราะเดี๋ยวนี้คนนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก รายได้แต่ละเดือนก็หลักหมื่นบาท เพราะใช้ระบบน้ำนิ่งในการปลูกช่วยประหยัดน้ำได้มาก ก็ขอขอบพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานโครงการดีๆ มาให้ ทำให้มีอาชีพเลี้ยงครอบครัวแบบไม่ขัดสน”
จากการลงพื้นที่ของนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมคณะในครั้งนี้พบว่าโครงการฯ มีการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมนำกลุ่มเกษตรกรต่างๆ มาจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัดขึ้น เพื่อบริหารงานตามระบบสหกรณ์ คือร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย และร่วมกันรับประโยชน์ เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่แบบกรงตับ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มสมุนไพรแปรรูป กลุ่มผู้ปลูกชมพู่ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเกษตรกรแบบผสมผสาน กลุ่มทำไร่ขนุนและการแปรรูป กลุ่มยุวชนผู้เลี้ยงปลาสวยงาม กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมพันธุ์จินตหรา กลุ่มผู้เลี้ยงโค กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ และกลุ่มผู้ทำกระดาษสาจากใบสับปะรด เป็นต้น