รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล เมื่อพูดถึงประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี เรามักพบข้อความที่อ้างซ้ำๆ กันมาถึงบันทึกสนทนาระหว่างพระยาอนุมานราชธนกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ โดยในบันทึกนั้น พระยาอนุมานราชธนกราบทูลถามเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ โดยอ้างถึงข้อสันนิษฐานของนายพืช เตชะคุปต์ ว่าในการเสด็จประพาสชวาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2413 มีการใช้ “เพลงสยาม” คำนับรับเสด็จ โดยหลักฐานที่นายพืชใช้อ้าง น่าจะเป็น จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีคำแปลหมายรัฐบาลฮอลันดาเตรียมการรับเสด็จที่ปัตตาเวียบันทึกไว้ ความว่า “ข้อ 22 สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จลงจากรถที่โฮเตลเมื่อไร จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อมชื่อปรินฟเรศริก สลุตคำนับ 21 นัด ยิงปืนสลุตแล้วพวกทหารแตรกลองเป่าแตรตีกลองเปนเพลงฮอลันดาและเพลงสยามทำถวายเปนคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” โดยนายพืชสันนิษฐานว่า “เพลงสยาม” ที่ทหารฮอลันดานั้น ก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยเรานั่นเอง และจากลายพระหัตถ์ตอบ ก็เห็นได้ว่าดูเหมือนเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จะทรงเห็นด้วยกับความคิดนี้ และทรงอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “เราใช้สรรเสริญอังกฤษเป็นเพลงคำนับมาแต่รัชกาลที่ 4 เพราะเหตุที่ครูหัดทหารของเราเป็นคนอังกฤษ เขาก็จัดตามความรู้และความชอบใจของเขา เราไม่รู้สึกอะไร” ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ในปี 2413 ทางรัฐบาลอังกฤษก็ยังใช้เพลง กอดเสฟธีควีน รับเสด็จได้อย่างไม่ขัดข้อง เพราะถือว่าเป็นเพลงที่ใช้คำนับอยู่แล้วในสยาม แต่เมื่อเสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย (จากาตาร์) ทางรัฐบาลฮอลันดาไม่ต้องการใช้เพลงคำนับของอังกฤษ และระบุว่าต้องการใช้เพลงคำนับของสยาม จึงเป็นเหตุให้ “เริ่มดำริ” หาเพลงคำนับประจำชาติขึ้นในครั้งนั้นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็ไม่ขัดแย้งกับเอกสารหมายรับเสด็จของทางฮอลันดา ที่ระบุว่าใช้ “เพลงสยาม” ในการบรรเลงคำนับในคราวนั้น แต่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีไทยอย่าง เสถียร ดวงจินทร์ทิพย์ ได้ตั้งข้อสังเกตให้ผมฟังเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อพิจารณาจากหมายรับเสด็จนั้นอย่างละเอียด เราจะพบข้อพิรุธอยู่สิ่งหนึ่ง นั่นคือ ในหมายรับเสด็จนั้น ลงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1871 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย โทศก ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 เพิ่งเสด็จประทับเรือพระที่นั่งออกจากสยามไปยังสิงคโปร์ และจะเสด็จไปถึงจากาตาร์หรือปัตตาเวียในอีก 14 วันข้างหน้า คือเมื่อวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 ดังนั้น หากสมมติว่าทางการไทยได้รับหมายเตรียมการรับเสด็จนี้ทันทีในวันที่ 9 มีนาคมจริง (ทางโทรเลข) นักดนตรีก็จะมีเวลาเพียง 7 วันเท่านั้นในการคิดหาเพลงใหม่เพื่อการนี้ เพราะต้องใช้เวลาอีกถึง 7 วันในการส่งโน้ตเพลงไปยังปัตตาเวียทางเรือ ทั้งหมดนั้นจึงดูเป็นการกระทำที่ออกจะฉุกละหุกเกินไป เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์จึงสันนิษฐานว่า “เพลงสยาม” ที่บรรเลงในคราวนั้น แท้จริงแล้วจึงน่าจะเป็นเพลงเดิมคือ God Save the King ที่คงอนุโลมให้ใช้ไปก่อนเป็นการชั่วคราว ไม่ใช่ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่แต่งขึ้นใหม่อย่างที่นายพืช เตชะคุปต์ เข้าใจ ก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงสยามและค่อยดำเนินการจัดหาเพลงสรรเสริญพระบารมีหลังจากนั้น สมดังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ บันทึกไว้ว่า “เมื่อทำหรือหาเพลงใหม่ได้แล้ว ก็มอบให้มิสเตอร์เฮวุดเซน (ซึ่งเรียกกันว่าครูยู่เซน...) ...ทำเพลงคำนับด้วยสรรเสริญพระบารมี ก่อนกองทหารอื่นๆ” แต่อย่างไรก็ตาม การที่นักดนตรีจะรีบแต่งเพลงสรรเสริญฯ ให้เสร็จภายในเวลาวันสองวันนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ข้อสันนิษฐานนี้จึงยังเปิดกว้าง และไม่อาจสรุปลงง่ายๆ