“รมว.นฤมล” นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ผลักดันใช้มาตรฐานบังคับให้เกิดประสิทธิสูงสุด ลดการถูกตีกลับ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรไทย พร้อมเห็นชอบร่างมาตรฐานสำคัญ “ปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง-การเพาะเลี้ยงผำ”
วันที่ 24 ธ.ค.67 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นครัวของโลก ซึ่งความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงต้องสร้างระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยให้เกิดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการยอมรับสู่สากล ทั้งนี้ การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรมีความสำคัญ เนื่องจาก ใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต ปรับปรุงคุณภาพ จัดชั้นคุณภาพเป็นมาตรฐานของประเทศที่นำมาใช้อ้างอิง สร้างความเป็นธรรมทางการค้า รวมถึงสนับสนุนการเจรจา โดยเฉพาะการทำความตกลงยอมรับความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศไทยกับคู่ค้า และเป็นเกณฑ์ในการตรวจรับรองระบบมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า ปัจจุบันมีมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมทั้งสิ้น 417 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป จำนวน 407 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ จำนวน 10 เรื่อง
รมว.นฤมล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ผ่านมายังพบปัญหาและอุปสรรค จึงได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทบทวนมาตรฐานที่มีความซ้ำซ้อนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้หรือไม่ และลดขั้นตอน อีกทั้ง มอบหมายให้ มกอช. กรมวิชาการเกษตร และหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช บูรณาการทำงานร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ถูกตีกลับ ให้เข้าไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุ วางแผนร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตร ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรฐานอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเจตนาทุจริตให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดขั้นเด็ดขาด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1. ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... เนื่องจาก กษ. มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวม และโรงคัดบรรจุเป็นมาตรฐานบังคับ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 2. กำหนดอัตรา ค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน มกษ. 9055-2562 (GAP เกลือทะเล) 3. กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานบังคับ มกษ. 6413-2564 (ปางช้าง) และ มกษ. 9070-2566 (ตรวจและรับผลทุเรียน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่ 1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง 2. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหาร 3. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์ 4. สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (ทบทวน) 5.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (ทบทวน) และ 6. การจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร เล่ม 1 : พืช (ทบทวน)
ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง คือ 1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง ตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกจนถึงหลังการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้าวโพดเมล็ดแห้งที่มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป รวมถึงสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งลดปัญหาฝุ่น PM2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน
2. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหาร และ 3. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้ง 2 ฉบับนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มผำ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสถานที่ตั้งฟาร์ม การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง น้ำที่ใช้ในฟาร์ม สุขลักษณะภายในฟาร์ม การจัดการการเพาะเลี้ยง ปุ๋ยและธาตุอาหารเสริม น้ำทิ้งและดินเลน การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและการปฏิบัติก่อนการขนส่ง ผู้ปฏิบัติงาน และการบันทึกข้อมูลและเอกสารหลักฐานเพื่อการตามสอบ เพื่อให้ได้ผำที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค หรือนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้วแต่กรณี
4. สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ. 9002-2559) (ทบทวน) และ 5. สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (มกษ. 9003-2547) (ทบทวน) เนื่องจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอาจทำให้สินค้าเกษตรมีปัญหาสารพิษตกค้าง จึงจำเป็นต้องกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภคในประเทศ การนำเข้า รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ผลิตผลอาจจะมีการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างบางชนิดจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (EMRL) ด้วย ดังนั้น เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อกำหนดระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งครอบคลุมรายการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นควรให้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว
และ 6. การจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร เล่ม 1 : พืช (ทบทวน) กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การจัดกลุ่มสินค้าเกษตร : พืช (มกษ. 9045-2559) และเนื่องจากมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) ที่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิง มีการปรับปรุงใหม่โดยเพิ่มกลุ่มสินค้าและรายการสินค้าในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งจำเป็นต้องเพิ่มเติมสินค้าพืชของไทยในบางกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงเห็นสมควรทบทวนมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการวิชาการเกษตร เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานการจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร ในรูปแบบชุดอนุกรมมาตรฐาน โดยเริ่มกำหนดที่เล่ม 1: พืช เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ร่วมกับ มกษ. 9002 และ มกษ. 9003