สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์(TSF) กับพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัท พร้อมทั้งรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในปี 2563 และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างปี 2560 - 2561 นายอรัญ อภิจารี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF และกรรมการ บริษัท ทีเอสเอฟ เอ็กซ์ตร้า จำกัด (บริษัทย่อย) ในขณะนั้น มีการทุจริตผ่านบริษัทย่อย โดยการทำสัญญาติดตั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะกับบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (GISP) (สัญญาหลัก) โดยระบุให้บริษัทย่อยจ่ายเงินค่ารับโอนสิทธิ จำนวน 3 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนกลับไปให้นายอรัญ ต่อมาบริษัทย่อยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาหลัก เพื่อจ่ายเงินค้ำประกัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนไปให้บริษัท ไลเกอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Liger) และโอนต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอดตามคำสั่งของนายอรัญ

การกระทำของนายอรัญจึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ TSF และบริษัทย่อย โดยมี (1) นางสาวมินทร์ฐิตา ปนาวัฒน์ธนยศ (2) นางสาวกาญจนกร เตชะพันธ์ (3) นางสาวโศภชา เจริญสุข (4) GISP และ (5) Liger เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน

การกระทำของนายอรัญและพวกเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 89/24 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการข้างต้นต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ บก.ปอศ.

ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว