บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน เรื่องชุดราชปะแตน “วิกิพีเดีย” อธิบายไว้ว่า “ราชปะแตน (เดิมเรียกว่า ราชแปตแตน มาจากคำบาลีผสมอังกฤษว่า Raj pattern แปลว่า แบบหลวง) คือ เครื่องแต่งกายชายไทย ประกอบด้วยเสื้อสูทสีขาว คอตั้งสูง และมีกระดุมห้าเม็ด โจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวถึงเข่า และรองเท้าหุ้มส้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินเดีย ผู้ตามเสด็จแต่งเครื่องแบบเสื้อฝรั่ง เวลาปกติก็เปิดอกผูกเน็กไท แต่นุ่งโจงกระเบนไม่นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ที่เมืองกัลกัตตามีช่างฝีมือดี โปรดเกล้าฯ ให้ตัดฉลองพระองค์ใส่เล่นแบบปิดตั้งแต่คอ มีดุมกลัดตลอด เพื่อไม่ต้องผูกเน็กไท เป็นที่พอพระราชหฤทัย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนายราชานัตยานุหาร ในฐานะราชเลขานุการ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตคิดชื่อถวายว่า ราชแพตเทิร์น (Raj pattern) แต่ต่อมาเพี้ยนมาเป็น ราชปะแตน ราชปะแตนเป็นเสมือนเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนไป โดยส่วนมากสวมกับผ้านุ่งโจงสีกรมท่า ผ้านุ่งโจงนั้นเรียกกันสั้นๆ ว่า ผ้าม่วง บ้างก็ตัดด้วยแพร ผ้าลายบ้าง ต่อมาไม่สวมแต่เฉพาะกับผ้าม่วง หากแต่สวมกับกางเกงแพรด้วยเสื้อราชปะแตนเป็นที่นิยมอยู่นาน จนยุคต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีประกาศกฎหมายวัฒนธรรม ห้ามนุ่งผ้าม่วง และกางเกงแพร เสื้อราชปะแตนจึงหายไปตั้งแต่นั้น ต่อมาในสมัยที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยแนวคิดของการกำหนดรูปแบบเครื่องแต่งกายไทยให้มีลักษณะเฉพาะแต่ยังเป็นสากล จึงได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ได้พระราชทานแบบเสื้อตามที่เคยทรงอยู่บ่อยๆ โดยเป็นเสื้อสูทคอตั้งที่เรียกกันว่าคอแมนดาริน (Mandarin Collar) หรือคอเหมา (Mao Collar) โดยมี 3 แบบคือ แบบแขนสั้นสำหรับงานกลางวัน แบบแขนยาวสำหรับงานกลางคืน และแบบแขนยาวมีผ้าคาดเอวสำหรับงานที่เป็นทางการ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สวมเสื้อพระราชทานนี้แทนชุดสากลนับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2523 แต่ยังมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมแตกต่างจากเสื้อราชปะแตนเดิม คือให้เลือกใช้ผ้าตามแต่ละท้องถิ่น ทำให้ชุดมีสีสันและลวดลายแปลกตากว่าเดิม” นานแล้วหลายปี ในสังคมไทยมีความเข้าใจผิดประการหนึ่งว่า เสื้อราชปะแตนนั้นไทยรับแบบจากกัมพูชามา อันที่จริงเสื้อราชปะแตนนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดขึ้นทรงคิดขึ้น พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเรื่องนี้ไว้ในรายการ “เพื่อนนอน” 6 มกราคม 2506 ว่า “.... เรามีการตีความบางอย่างเอาง่ายๆ หรือของบางอย่างซึ่งเป็นของไทยแท้ เราก็เอาไปยกให้แก่คนอื่นเขาเสียง่ายๆ เพราะเราไม่อยากจะใช้ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งกายแบบไทย ซึ่งคนไทยโบราณเราแต่งกันมาแต่โบราณกาล และก็ได้วิวัฒนาการมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาทางราชการเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนการแต่งกายเป็นแบบฝรั่ง ซึ่งเรียกกันว่าการแต่งกายแบบสากลนั้นไม่ใช่ของเสียหาย เราอาจจะเปลี่ยนการแต่งกายให้เป้นอย่างไร ให้ทันสมัยเพื่อความสะดวกของชีวิตในปัจจุบันนั้น เป็นของดีทุกอย่าง ซึ่งเรามีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ว่าเคยมีเสียงว่า การนุ่งผ้าโจงกระเบนใส่เสื้อที่เรียกว่า เสื้อราชปะแตน นั้นเป็นการแต่งกายแบบเขมร นี่ก็เป็นการเขียนประวัติขึ้นใหม่ เพื่อให้ถูกต้องกับนโยบายของตนโดยไม่ตรงกับความจริงเลย เพราะเหตุว่า การแต่งกายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมถุงนิ่งรองเท้าใส่เสื้อราชปะแตนนั้น เป็นเรื่องที่เขมรเอาไปจากไทยทั้งสิ้น เมื่อครั้งเขมรยังเป็นเมืองขึ้นไทยอยู่ ก็จดจำเอาไปใช้ จะเห็นได้ว่าเขมรทุกวันนี้ยังใส่เสื่อราชปะแตนแล้วขัดกระดุมเจ็ดเม็ด ทางฝ่ายไทยเราถ้าหากจะนุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อราชปะแตนแล้วกันขึ้นเมื่อไหร่ เราขัดกระดุมเพียงห้าเม็ด กระดุมเจ็ดเม็ดกับกระดุมห้าเม็ดนี้ เป็นสิ่งที่อธิบายได้แน่ชัดว่า เขมรเอาเครื่องแต่งกายนี้ไปจากไทย ตามประวัติก็ปรากฏแล้วว่า เสื้อราชปะแตนนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมหาราชได้ทรงคิดขึ้น เพื่อใช้ทั่วไปในประเทศไทยให้เป็นการแต่งกายสุภาพ จึงได้เรียก ราชปะแตน จากคำฝรั่งว่า Royal Patent แปแตน ก็แปลว่าลิขสิทธิ์ หรือแปลว่าอะไรแบบนั้นซึ่งพระราชาเป็นผู้ค้นคิดขึ้น แต่ว่ารัชกาลที่ 5 ได้คิดเสื้อราชปะแตนกันขึ้นนั้น ใช้กระดุมเจ็ดเม็ด และเขมรก็เอาไปตอนนั้น และเมื่อเขมรเอาเจ็ดเม็ดไปแล้ว ก็ไปอยู่กับฝรั่งเศส ความสมันพันธ์ระหว่างเขมรกับคนไทยก็ลดน้อยลงไป จนในที่สุดเมื่อเราเปลี่ยนเสื้อราชปะแตนมาเป็นกระดุมห้าเม็ดนั้น เขมรไม่รู้เรื่องเสียแล้ว เพราะปอยู่กับฝรั่งเศสเสียนานก็เลยไม่ได้ติดตามแก้ไขกันมาให้เป็นห้าเม็ด เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ไทยก็ใส่เสื้อราชปะแตนกระดุมห้าเม็ด เขมรก็เจ็ดเม็ด การที่เราจะเอาเครื่องแต่งกายแบบนั้นไปโยนให้ บอกว่าเป็นแบบเขมรก็เป็นการทิ้งของของเราไปให้แก่คนอื่นโดยง่ายดาย นี่ก็เป็นแต่เพียงตัวอย่างเท่านั้น สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือว่า สิ่งที่เราควรทำนั้น เราควรจะยอมรับกันเสียทีว่าอะไรเป็นของใครแน่ สิ่งใดที่เป็นของไทยจะดีไม่ดี เราก็ต้องกำหนดเอาไว้แต่ในใจว่าอย่างนี้เป็นของไทย ถ้าไม่ดีเราก็ไม่ใช้ ไม่เป็นปัญหา ถ้าดีเราก็เก็บเอาไว้ สิ่งใดที่เป็นของฝรั่งหรือต่างชาติต่างภาษา เราก็ควรจะยอมรับเสียที ให้เครดิตแก่เจ้าของเขาบ้าง อย่าไปอ้างว่าเป็นของเราเอาง่ายๆ แล้วเมื่อยอมรับว่าเป็นของฝรั่งแล้ว และเป็นของดี เราก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ ไม่มีใครห้ามปรามเราได้ ของอะไรไม่ดีเราก็โยนทิ้งไป แต่เมื่อเราเอาของฝรั่งมาใช้ เราควรจะรู้ว่านั่นเป็นของฝรั่ง และเมื่อเราจะยังรักษาของไทยไว้ เราก็ควรจะรู้ว่าสิ่งนี้เป็นของไทย ทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เป็นของเดิมหรือของใหม่ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะรู้จักเลือกถูก สิ่งที่เป็นของไทยเราจะได้รักษาถูก และสิ่งที่เป็นของไทยเรา เมื่อเรารู้ว่าเป็นของไทยแน่ชัด ก็จะได้เป็นเครื่องเตือนในเราให้รู้ตัว เราเป็นคนไทยและมีความเป็นตัวของตัวเองตลอดไป ไม่กลายเป็นชาติอื่นภาษาอื่น การที่เราจะใช้ของอย่างไร เอาของของใครมาใช้ หรือเอามาดัดแปลงอย่างไรนั้น เป็นสิทธิ์ของเราทั้งสิ้น ไม่มีใครมาห้ามเราได้ ผมพูดมานี้ไม่ได้ขัดขืนหรือวางตนเป็นอุปสรรคต่อการนำของฝรั่งเข้ามาใช้ ตรงกันข้าม กลับมีความเห็นด้วยว่าควรจะนำเข้ามาใช้ในหลายอย่างหลายกรณีทีเดียว หรือจะว่าทั้งหมดก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้อง แต่ว่าเมื่อใช้ก็ต้องรู้ว่าเป็นของฝรั่ง ไม่ใช่ไปโมเมเอาง่ายๆ ว่าเป็นของไทย หรือไม่ได้หลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่าเป็นของไทย ถ้าทำอย่างนั้นแล้วในที่สุดเราก็จะเลยลืมตัว แม้แต่ตัวเราเองก็อาจจะไม่รู้ว่าเป็นไทย เผลอไผลไปนึกว่ากลายเป็นฝรั่งหรือเป็นชาติอื่นไปได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง” (เพื่อนนอน 6 มกราคม 2506)