อาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

 

หลุมพรางทางความคิดด้านสุขภาพ (health halo) คืออะไร?

หลุมพรางทางความคิดด้านสุขภาพ (health halo) หมายถึง ลักษณะเฉพาะเพียงอย่างเดียวของอาหารที่ส่งสัญญาณให้ ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภคเข้าใจว่า ภาพรวมของอาหารนั้นมีโภชนาการที่ดี เช่น ซีเรียลอาหารเช้ายี่ห้อหนึ่งมีข้อความบนกล่องว่า “น้ำตาลน้อยลง 30%” ข้อความนี้อาจทำให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและนำไปสู่การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของซีเรียลอาหารเช้านี้สูงเกินไป ข้อความลักษณะนี้ทำให้ซีเรียลอาหารเช้านี้ดูมีสุขภาพดีขึ้นในการรับรู้ของผู้บริโภค แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ซีเรียลอาหารเช้านี้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ(1, 2)

 

ฉลากโภชนาการอย่างง่ายคืออะไร?

ฉลากโภชนาการอย่างง่าย (Healthier Choice) เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเพื่อมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลามาก ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจึงได้มีการศึกษาและใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายแสดงบนฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสัญลักษณ์เหล่านั้น อาจแสดงในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลและชี้นำตามชนิดของสารอาหารโดยใช้เกณฑ์ความต้องการสารอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การอนามัยโลก แสดงผลการตัดสินใจด้วยเกณฑ์ปริมาณสารอาหารที่กำหนดขึ้นตามชนิดของผลิตภัณฑ์อาหารและชี้นำในภาพรวมของผลิตภัณฑ์อาหารว่า ดีกว่าหรือมีผลเสียน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในท้องตลาด และฉลากโภชนาการอย่างง่ายถือเป็นมาตรการเชิงบวก (positive approach) ที่สามารถสร้างความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ (3) ประเทศไทยกำหนดให้การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายบนบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 373 (พ.ศ. 2559) เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559(3) (รูปที่ 1) 
 


รูปที่ 1 โลโก้กลุ่มเครื่องดื่ม ทางเลือกสุขภาพ Healthier Choice


ที่มาของรูป: https://healthierlogo.com/โลโก้กลุ่มเครื่องดื่ม/

 

การแสดงฉลากโภชนาการอย่างง่ายเป็นเครื่องหมายบังคับที่อุตสาหกรรมอาหารทุกแห่งทำตามความสมัครใจของแต่ละอุตสาหกรรมอาหาร โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายนี้ต้องผ่านเกณฑ์คุณค่าทางโภชนาการตามข้อกำหนด การได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือกให้ผู้บริโภค และไม่ใช่การโฆษณาสินค้าหรือจัดอันดับอาหารว่าดีหรือไม่ดี แต่มุ่งให้ความรู้กับผู้บริโภคว่า อาหารที่มีฉลากโภชนาการอย่างง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทเดียวกัน อาหารที่มีฉลากดังกล่าวเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ไม่มีฉลากฯ (3) ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มช็อคโกแกต ที่มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย ดีต่อสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มช็อคโกแกต ที่ไม่มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย (รูปที่ 2)
 

รูปที่ 2 การเปรียบเทียบเครื่องดื่มรสช็อคโกแกตระหว่างมีและไม่มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย


ที่มาของรูปภาพ: ผู้เขียน

 

หลุมพรางทางความคิดด้านสุขภาพกับความเข้าใจฉลากโภชนาการอย่างง่ายของเด็กไทย

ข้อมูลจากโครงการ “การติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย” สำรวจเด็กอายุ 10-18 ปี  ในประเทศไทย จำนวน 2,113 คน พบว่า ร้อยละ 79.7 เคยเห็นฉลากโภชนาการอย่างง่าย เมื่อกลุ่มตัวอย่างเห็นฉลากโภชนาการอย่างง่ายแบบทางเลือกสุขภาพบนขวดเครื่องดื่ม ครึ่งหนึ่งของเด็กไทยที่พบเห็นฉลากฯ (ร้อยละ 50.9) เข้าใจว่า ตนเองสามารถดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใดก็ได้ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ร้อยละ 36.6 เข้าใจว่า ตนเองไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มนี้   ได้มากเท่าใดก็ได้ ถึงแม้เครื่องดื่มนี้มีฉลากโภชนาการอย่างง่ายก็ตาม และอีกร้อยละ 12.5 ของเด็กไม่เข้าใจว่า ตนเองสามารถเครื่องดื่มนี้ได้หรือไม่และดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใด อีกทั้งเด็กกลุ่มนี้มากถึงร้อยละ 54.6 ยังบอกด้วยว่า เมื่อเห็นฉลากโภชนาการอย่างง่ายแบบทางเลือกสุขภาพบนขวดเครื่องดื่ม มีผลต่อการเลือกซื้อเครื่องดื่ม

เด็กไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในหลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คือ เด็กไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของฉลากโภชนาการอย่างง่าย ซึ่งเด็กคิดว่า ตนเองสามารถดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใดก็ได้ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงศึกษาธิการ ควรสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจความหมายของฉลากโภชนาการอย่างง่ายให้แก่เด็กอย่างเร่งด่วน