พิชัย ตอกย้ำประชาธิปไตยไทยมั่นคงส่งผลให้เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง "วิสุทธิ์" ลั่นดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 20 ฉบับให้จบในสมัยประชุมนี้ ชี้ความเห็นต่างร่างกม.ประชามติจะหมดไปหากหันหน้าคุยกันก่อน ชณะที่พุทธะอิสระ ไม่ขอร่วมขบวนต่อต้านทักษิณ-อิ๊งค์ กลัวติดร่างแห
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.67 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ การเมืองและเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21 และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน หรือ Thai Politics and Economy in the 21st Century and the Policy Direction of the Current Government โดยมีนักลงทุน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน นักวิชาการ นักศึกษาญี่ปุ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (Komaba Research Campus) ประเทศญี่ปุ่น โดย นายพิชัย ได้กล่าวถึงภาพรวมและทิศทางของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทยที่เกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทย
นายพิชัย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขอบคุณที่ให้ความสนใจกับประเทศไทยในมิติต่างๆ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมากว่า 600 ปี และความสัมพันธ์ทางการทูตถึง 137 ปี ที่ประเทศไทยพัฒนาได้ทุกวันนี้ก็เพราะนักลงทุนญี่ปุ่น ที่มาลงทุนในไทย ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 นักลงทุนญี่ปุ่นหายไป แต่พอเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การลงทุนญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใหม่ ตนได้เข้าร่วมงานครบรอบ 70 ปี เจโทรในไทย ได้พบกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมกระทรวงพาณิชย์ ทุกคนแจ้งว่าจะกลับมาเป็นแชมป์นักลงทุนอีกครั้ง ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นจริง ญี่ปุ่นกลับมาเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ที่ไทยอีกครั้ง
นายพิชัย กล่าวว่า ที่ตนมาประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ต้องการให้กระแสการลงทุนจากญี่ปุ่นมาไทยโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวานได้มาประชุม ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024 ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น พร้อมรัฐมนตรีของเวียดนามและเลขาธิการอาเซียน ได้มีโอกาสเจอนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่น 10 กว่าราย ทั้ง GS Yuasa International , Extrabold Corporation , Hitachi , Scheme Verge , SIIX , Mitsubishi Electric Corporation และ Softbank เป็นต้น รวมถึง JETRO, JICA, แบงค์กรุงเทพในญี่ปุ่น สำนักงาน BOI โตเกียว และ เจโทร ไจก้า ชวนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ให้นักลงทุนญี่ปุ่นทวงแชมป์การลงทุนในไทยได้ต่อเนื่อง
โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.9% ซึ่งต่ำมาก ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่หายไป แต่ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไตรมาสที่แล้วจีดีพีขยายตัว 3% และไตรมาสนี้น่าจะขยายตัวได้ 4% แต่จีดีพีไทยต้องโตอย่างน้อย 5% ขึ้นไป ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ถึงจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และการส่งออกไทยเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บวกถึง 14.6% คาดว่าการส่งออกทั้งปีของปีนี้จะเติบโตได้ถึง 5% และการลงทุนในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สิ้นปีนี้น่าจะแตะ 1 ล้านล้านบาท เพราะรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมในอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ไทยได้รับความสนใจมากอย่าง PCB Data Center และ AI ซึ่งทางญี่ปุ่นกำลังจะมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) และทางไทยหวังว่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของญี่ปุ่นด้วย
นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยก็กำลังเร่งเจรจา FTA เพื่อทำให้การลงทุนไหลเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่แล้ว 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ และล่าสุดมีกำหนดการลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ในเดือนมกราคม 2568 ที่เมืองดาววอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในปีหน้าจะมี FTA เพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศที่อยู่ในระหว่างการเจรจา ได้แก่ ไทย-อียู ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และ อาเซียน-อินเดีย ทั้งนี้ไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในหลายด้านต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นได้อย่างเต็มที่เหมือนคนผอมจะให้อ้วนทันทีคงไม่ได้ ผอมมา 10 ปี กว่าจะอ้วนได้คงต้องใช้เวลาสักพัก แต่วันนี้ รัฐบาลมาในทิศทางที่ถูกต้องและเชื่อว่าจะไปได้ด้วยดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมการค้าที่เรียกว่า 80:20 โดย 80 % คือการส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 20% เป็นเพียงการควบคุมไม่ให้มีการทำผิดกฏหมาย
ส่วนเรื่องการเมืองของไทยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่การรัฐประหาร รัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าการรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยโต 5-8% หลังรัฐประหารขยายตัวเพียง 3% และตั้งแต่ปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เมื่อการเมืองกลับมามั่นคง เสถียรภาพรัฐบาลก็มั่นคง เศรษฐกิจไทยก็กลับมามั่นคง คนไทยรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เห็นภาพนี้ชัดเจนเชื่อว่าจะเรียนรู้และไม่ยอมให้มีการรัฐประหารอีก แนวทางการบริหารงานและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น ตอนนี้มีเพียงการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ถ้าแก้ได้เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นได้รวดเร็ว
ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมที่เพิ่งเปิดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า เราจะพิจารณากฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานจึงเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ แต่คิดว่าสมัยประชุมนี้น่าจะทำได้มากขึ้นประมาณ 20 ฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง ที่ก่อนหน้านี้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ออกมาทำให้เราเสียอำนาจทางการประมงไป พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้ามาแก้ไข ทำให้ประชาชนทำการประมงได้สะดวกมากขึ้น, พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย มั่นใจว่าสมัยประชุมนี้เราจะทำได้อย่างเต็มที่
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายตนไม่ได้กังวล แต่กังวลเรื่องเดียวคือการให้ส.ส.ร่วมประชุมสภาฯ วันพุธและวันพฤหัสบดี ขอให้ประชาชนอย่าเชิญส.ส.ไปร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว นอกจากงานที่จำเป็นจริงๆ เช่น งานที่ต้องแต่งตัวขาวดำ เพราะอยากให้ส.ส.ให้ความสำคัญกับสภาฯ ถ้าไม่ใช่งานขาวดำหรือมีใครเจ็บป่วยในครอบครัว อยากให้อยู่ประชุมสภา เพราะหน้าที่หลักของ สส. คือต้องตรากฎหมาย หากจะเดินสายออกงานหาเสียงในพื้นที่มันไม่ใช่ตอนนี้ ประชาชนเลือกให้มาทำงานในสภาฯ แล้ว และตั้งแต่ตนเป็นประธานวิปรัฐบาลมา แม้จะมีข้อผิดพลาดอะไรบ้างแต่สภาไม่เคยล่ม ต้องขอบคุณสมาชิกที่ให้ความร่วมมือ ก็ขอให้ช่วยกันทำงานเหมือนสมัยที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทย นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายนิรโทษกรรมค้างในสภา 4 ฉบับ ส่วนของพรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการตรวจความเรียบร้อย คิดว่าน่าจะเสร็จสิ้นหลังเดือนมกราคม 2568 สิ่งสำคัญการเสนอกฎหมายอะไรของพรรคการเมือง ต้องคุยกับวิปรัฐบาลให้จบก่อน แล้วให้ทุกพรรคนำเรื่องที่คุยในวิปไปหารือในพรรคของตัวเอง จะไม่ต่างคนต่างเสนอ เพราะถ้าเสนอแล้วมีคนไม่เห็นด้วยประชาชนจะมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกัน ต้องคุยกันก่อนมติว่าอย่างไรอยากให้เป็นอย่างนั้น จากนี้การเสนอกฎหมายอะไรในนามพรรคการเมืองต้องปรึกษาในวิปก่อน ถ้าขัดกันไม่ต้องเสนอ มันจะเสียเวลา แนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการทำงานร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นแตกต่างกันจะทำให้เกิดปัญหาการทำงานหลังจากนี้หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า หากคุยกันก่อนเสนอกฎหมายจะแก้ปัญหาเหล่านี้ จากนี้ไปการเสนอกฎหมายอะไรวิปต้องคุยกันก่อน ถ้าเห็นเป็นเช่นไรแล้วไปถามที่พรรคว่าเอาหรือไม่ ถ้าเอาก็เสนอร่วมกันเลยจะได้ไม่มีปัญหาอีก
วันเดียวกัน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก "เทพไท - คุยการเมือง" ทักษิณ คือ เจ้าของรัฐบาลตัวจริง ถ้าใครได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการรับเชิญเป็นวิทยากร กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ "อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย" ในงานสัมมนา "ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก" ที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาแล้ว จะทราบว่ามีเนื้อหาในการบรรยาย พอสรุปได้ดังนี้คือ 1.การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ หรือสินค้าโอทอปของภาคอีสาน 2.ปัญหายาเสพติด จัดทำแอปพลิเคชันที่จะรับข้อมูลจากประชาชน เพื่อให้มีการปราบปรามอย่างจริงจัง 3.เสนอให้แปลงการออกพันธบัตรรัฐบาลให้มาสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยออกพันธบัตรอายุสั้นขายคนทั่วไปในรูปของเหรียญ ซึ่งประชาชนสามารถที่จะนำไปใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ และต้องทำให้จีดีพีโตได้ 4-5% จากที่เป็นอยู่ 2%
เชื่อว่าวิสัยทัศน์ของนายทักษิณเกี่ยวกับการพัฒนาภาคอีสานในครั้งนี้ จะถูกรัฐบาลชุดนี้นำไปปฏิบัติอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านายทักษิณพูดอะไร รัฐบาลชุดนี้ก็นำไปปฏิบัติทั้งหมด นับตั้งแต่การแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ บนเวทีสัมมนาของเครือเนชั่น รัฐบาลก็นำไปเป็นนโยบายของรัฐบาล และได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว รวมถึงนายทักษิณได้พูดเรื่องแจกเงินให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท บนเวทีปราศรัยจังหวัดอุดรธานี นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาขานรับทันทีในวันต่อมา และนำไปปฎิบัติเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว
แม้แต่การตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจปราบปรามผู้มีอิทธิพล ที่นายทักษิณประกาศให้นางสาวแพทองธาร เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ รัฐบาลยังไม่ทันได้ตั้งกรรมการขึ้นมาเลย แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ลงพื้นที่ลุยปราบปรามทันที ตามคำดำริของนายทักษิณ ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าคำสั่งรัฐบาลด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายทักษิณพูดทั้งหมดคือ แนวทางการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ระหว่างนายทักษิณกับนางสาวแพทองธาร ใครคือนายกรัฐมนตรีตัวจริง จะบอกว่า"พ่อทำลูกซ่อม" ก็ไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลชุดนี้ "พ่อคิด พ่อกำหนด พ่อกำกับ พ่อสั่งการ" ผ่านร่างทรงที่เป็นลูกสาว คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
ขณะที่ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ "พุทธะอิสระ" ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้ ประชาชนอย่างเราๆ ไม่ต่างอะไรกับแมลงหวี่แมลงวันจะไปเปรียบเทียบอะไรกับพญาแร้ง พญาอินทรีผู้ยิ่งใหญ่เขาได้ ที่พูด ที่เขียน ที่โพสต์มาอย่างนี้ ก็เพราะมีผู้ถามเข้ามาว่า ทำไมไม่เห็นหลวงปู่ออกมาต่อสู้หรือไปเข้าร่วมกับประชาชนที่ไปแสดงพลัง ทักท้วงต่อพฤติกรรมของนายทักษิณและบุตรสาวที่ทำหน้าที่แบบสะเหล่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยเลย
พุทธะอิสระจึงได้บอกกับเขาไปดังที่เกริ่นไว้แต่เบื้องต้น ผู้สนทนาก็ย้อนถามกลับมาว่า ท่านพูดเช่นนี้แล้วหากประเทศชาติเกิดความเสียหายขึ้นหละจะทำอย่างไร? ใครจะรับผิดชอบ พุทธะอิสระจึงตอบกลับไปว่า ประชาชนอย่างคุณ อย่างฉันจะต้องไปเดือดร้อนอะไร เดี๋ยวพวกที่ปล่อยให้นายทักษิณเข้าประเทศมาอย่างเท่ๆ เขาก็รับผิดชอบกันไปเองแหละ
มดปลวก แมลงหวี่ แมลงวันอย่างพวกเราจะไปทำอะไรได้ ปล่อยให้เขาเล่นกันไป ดิ้นกันไป อะไรมันจะเกิดก็ให้มัน