รัฐบาลรณรงค์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ช่วงฉลองเทศกาลปีใหม่ เผยตัวเลขความสูญเสีย 3 ปีย้อนหลัง   วางแผนคุมเข้ม 10 ข้อหา เน้นปัญหาดื่มแล้วขับ "บิ๊กต่าย" กำชับวางมาตรการเข้มงวดช่วงฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ 

       
  เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.67 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันรณรงค์ "ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย" ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งจากสถิติตัวเลขความสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 คน บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ รวม 2,307 คน เสียชีวิต รวม 284 ราย  สำหรับสาเหตุสูงสุดได้แก่ ขับรถเร็ว 40.6% ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.31% ดื่มแล้วขับ 14.29% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.01% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี 19.67%
      
   น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแผนปฏิบัติงานเทศกาลปีใหม่ 2568 ช่วงคุมเข้ม 27 ธ.ค.67-2 ม.ค.68 บังคับใช้กฎหมาย เน้น 10 ข้อหา เน้นหนักเรื่องการดื่มแล้วขับ ซึ่งในปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา มีการจับกุมข้อหาเมาแล้วขับสูงถึง 20,917 ราย และทำการตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เพื่อส่งฟ้องต่อศาลให้ได้รับโทษสูงขึ้น
         
ส่วนผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ได้ใช้มาตรการสืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายสุราโดยมีบัญชีร้านค้าเสี่ยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย หรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มสุราตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง
        
 ทั้งนี้ บทลงโทษดื่มแล้วขับหากทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท ทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
        
 "รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนตลอดการเดินทางช่วงเทศกาล ขอให้ทุกคนมีสติ ดื่มไม่ขับ กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย" น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
   ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า เนื่องจากมีวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.67 ถึงวันที่ 1 ม.ค.68 ซึ่งจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและพักผ่อนในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ 2568 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อเป็นการมอบความปลอดภัยเป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จึงได้ออกมาตรการเข้มและกำชับหน่วยต่าง ๆ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 
         
มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนช่วงวันคริสต์มาสและวันหยุดยาวปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 17-23 ธ.ค.67 ทั้งความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป เช่น การพนัน ยาเสพติด อาวุธปืน และความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งตรวจสอบติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับค้างเก่า 
         
กวดขันจับกุมผู้ยิงปืนขึ้นฟ้า ผู้เล่นดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด และปล่อยโคมลอย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือรบกวนการจราจรทางอากาศ , ป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทาง การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมออกเดินทาง , ป้องกันและแก้ไขปัญหาเหตุทะเลาะวิวาทในสถานพยาบาล และกลุ่มวัยรุ่นต่างๆ 
         
กวดขันเพิ่มวงรอบตรวจตราแหล่งมั่วสุม สวนสาธารณะ สถานบริการ สถานบันเทิง สถานีขนส่ง โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายทุกประเภท รวมทั้งป้องกันการโจรกรรมลักทรัพย์ในเคหสถานของประชาชน โดยให้ดำเนินการตาม โครงการร่วมใจดูแลความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ (ฝากบ้าน 4.0) รับฝากบ้านประชาชนระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.67 ถึงวันที่ 2 ม.ค.68 
        
 สำหรับมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ให้มีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระดับกองบัญชาการ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ควบคุมเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. ถึงวันที่ 9 ม.ค.68 และให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุทางถนน ตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ กรณีเกิดอุบัติเหตุให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกราย ตรวจสอบประวัติการทำผิดซ้ำ หากผู้ขับขี่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา และให้มีการสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย
 
 ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพบเบาะแสอาชญากรรม ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย แจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือสายด่วนศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 และหากพบอุบัติเหตุ ขอความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทรสายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 , พื้นที่เส้นทางหลวงทั่วประเทศ โทรสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง