ต้องถือเป็นสงครามที่ทวีความดุเดือด ไม่แพ้ศึกสมรภูมิไหนๆ
สำหรับ “สงครามยานยนต์” อันเป็นศึกสงครามการสู้รบเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาดของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ขั้วค่ายต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นค่ายยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำท่าว่าจะเป็นเจ้าตลาดยานยนต์น้องใหม่ ที่มาแรงแซงโค้ง ด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า รถอีวี (EV : Electric Vehicle) ที่กำลังยอดฮิตนิยมใช้ขับขี่กันในหลายประเทศทั่วโลก ณ ชั่วโมงนี้
โดยเมื่อกล่าวถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ต้องบอกว่า เป็นยนตรกรรมฮอตฮิตในประเทศจีนมานานนับทศวรรษแล้ว หรือเมื่อราว 10 ปีก่อน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น การได้รับความสนับสนุนด้วยเม็ดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีน ซึ่งในประเด็นนี้ ก็มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่ง ได้สนับสนุนอัดฉีดเม็ดเงินแก่บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีน ตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีจำนวนรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1.68 ล้านล้านหยวน หรือกว่า 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็เกือบ 8 ล้านล้านบาท) จึงทำให้จีนเคยมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากถึง 500 ยี่ห้อ ส่งผลให้เกิดภาะฟองสบู่รถยนต์อีวี ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนต้องล้มหายตายจากหลายร้อยยี่ห้อ โดยปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 200 ยี่ห้อ สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวีในจีน
ด้วยความเป็นยนตรกรรมยอดฮิตของรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากบรรดาบริษัทของทางค่ายจีน ได้เข้าไปช่วงชิงการตลาดอย่างมหาศาลจากค่ายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของฝั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟากสหรัฐฯ ยุโรป และฝั่งญี่ปุ่น จนทำให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป หรือพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมัน หรืออย่างมากก็ผสมผสานระหว่างรถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบลูกผสม หรือไฮบริด ระหว่างเครื่องยนต์สันดาปและใช้พลังงานไฟฟ้าได้ด้วย ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ แบบรถยนต์อีวีจากค่ายจีน ต้องปรับกระบวนยุทธ์ในการต่อสู้กับรถยนต์อีวีของค่ายจีนอย่าขนานใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบุกตลาดโลกของรถยนต์อีวียี่ห้อ “บีวายดี (BYD)” หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชั้นนำจากค่ายจีน ได้ทะยานพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 7 ของโลกจากตัวเลขยอดขายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 (พ.ศ. 2567) แซงหน้ารถยนต์ของบริษัทค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อฟอร์ด นิสสัน และฮอนด้า ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงปีก่อนถึงร้อยละ 40 ที่จำนวน 980,000 คัน ใกล้แตะ 1 ล้านคันอยู่รอมร่อ
ไม่เว้นกระทั่งตลาดยานยนต์ของไทยในปีนี้เช่นกันที่ล่าสุดปรากฏว่า ยอดจองในงาน “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2024 (Motor Expo 2024)” ของรถยนต์อีวียี่ห้อ “บีวายดี” ได้แซงหน้ายอดจองรถยนตยี่ห้อฮอนด้าที่มียอดจำนวน 5,081 คัน ขึ้นแท่นเป็นอันดับสองแทนที่ โดยเป็นรองเพียงรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า เจ้าตลาดในไทยที่ยังคงรั้งแชมป์ ที่จำนวน 8,297 คัน
ด้วยกระแสที่มาแรงแซงโค้งของรถยนต์อีวีจากค่ายจีน ณ เวลานี้ ก็ทำให้บรรดาบริษัทยนตรกรรมจากขั้วค่ายฟากฝั่งต่างๆ มิอาจอยู่นิ่งต่อไปได้ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันใหม่ในเวทีการต่อสู้ และตามการประเมินของสถานการณ์ ก็ต้องบอกว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของค่ายต่างๆ เหล่านั้น ไม่อาจต่อสู้เพียงลำพังได้ แต่ต้องจับไม้ ร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ เป็น “พันธมิตรทางธุรกิจ” หรือถึงขั้น “ควบรวมกิจการ” กันเลยทีเดียว เพื่อเสริมสร้างพลังให้แข็งแกร่งขึ้นในการต่อกรกับรถยนต์อีวีของบริษัทค่ายจีน
ล่าสุด ทาง “นิสสัน มอเตอร์” และ “ฮอนด้า มอเตอร์” ซึ่งเป็นสองบริษัทยนตรกรรมยักษ์ใหญ่จากทางค่ายญี่ปุ่น ก็ได้เริ่มต้นการเจรจาเพื่อ “ควบรวมกิจการ” กันแล้ว เรียกว่า เลยธงเกินกว่าการเป็นพันธมิตร ในสมรภูมิต่อสู้ของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ ก็ต้องถือว่า ทั้ง “นิสสัน มอเตอร์” และ “ฮอนด้า มอเตอร์” กำลังเผชิญกับการขับเคี่ยวแข่งขันในตลาดรถยนต์อีวีแบบฝุ่นตลบ
ตามการรายงานของบรรดาสื่อมวลชนในญี่ปุ่น ก็ระบว่า แท้จริงแล้ว ทั้ง “นิสสัน มอเตอร์” และ “ฮอนด้า มอเตอร์” ได้เพิ่มการยกระดับความสัมพันธ์การดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ภายหลังจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองค่ายแดนซามูไร ถูกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งจีน และสหรัฐฯ ซึ่งจากสหรัฐฯ เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ “เทสลา” ของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” เข้าไปตีตลาด จนสามารถแบ่งแย่งชิงตลาดของพวกเขาไปแล้วอย่างน่าใจหาย
สื่อมวลชนในญี่ปุ่น รายงานว่า การควบรวมกิจการของบริษัททั้งสอง คงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยในเวลานี้ก็เหลือเพียงการพิจารณาว่า “บริษัทใหม่” ที่มีการควบรวมกิจการกันแล้วนั้น จะดำเนินงานในรูปบบ “บริษัทโฮลดิง (Holding Company)” หรือบริษัทที่มีรายได้จากการเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น หรือกิจการอื่น เป็นหลัก โดยรายได้ที่ว่านั้นจะอยู่ในรูปของเงินปันผลจากบริษัทย่อยที่เข้าไปถือหุ้น
ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่า ทั้ง “นิสสัน มอเตอร์” และ “ฮอนด้า มอเตอร์” จะลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ” หรือ “เอ็มโอยู” ในเร็วๆ นี้
ในส่วนของการถือหุ้นของบริษัททั้งสองในบริษัทใหม่ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ นั้น จะมีการพิจารณาตัดสินใจกันในภายหลัง
นอกจากนี้ ทั้ง “นิสสัน มอเตอร์” และ “ฮอนด้า มอเตอร์” ก็ยังมีแผนที่จะชักชวน “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors)” ที่ทาง “นิสสัน มอเตอร์” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” ให้เข้ามาควบรวมกิจการในบริษัทโฮลดิงที่พวกเขาจะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ด้วย แบบสามประสาน เพื่อให้เป็น “กลุ่มธุรกิจยานยนต์” ที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ด้วยความหวังว่า ทั้งสามบริษัทจะใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัท มาต่อกรสัประยุทธ์กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี ทั้งจากค่ายจีน และยี่ห้อเทสลา รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปในสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรืองอำนาจในสหรัฐฯ 4 ปีต่อจากนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะไม่สนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่าที่ควร ด้วยนโยบายที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับพลังงานสะอาดสักเท่าไหร่