วันที่ 21 ธันวาคม 67 เวลา 10.05 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ขบวน 21 รถไฟดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี นายสุรเสียง พลับพลาสวรรค์ ประธานกลุ่มคนรักรถไฟโคราชพร้อมพวกให้การต้อนรับนายจรงฤทธิ์ สังข์ประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและแกนนำแฟนคลับคนรักรถไฟ เดินทางมาท่องเที่ยว “รถไฟจะไปโคราช” กิจกรรมบันทึกความทรงจำถ่ายภาพอาคารสถานีเก่าและหัวรถจักรไอน้ำฮาโนแม็ค ศึกษาแหล่งเรียนรู้โรงรถจักรนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชมตู้โดยสารสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องจักรกล เครื่องมือช่างใช้งาน พ.ศ 2510 และระบบขนส่งทางรางโบราณ ฯ
โดย นายจรงฤทธิ์ แกนนำคนรักรถไฟ เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยว 45 คน ทั้งหมดชื่นชอบรถไฟไทย ร่วมทริป กงล้อประวัติศาสตร์ รำลึกเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย 124 ปี อำลาอาคารสถานีรถไฟนครราชสีมาและท่องเที่ยวเส้นทาง 3 มรดกโลกโคราช หลังทราบอาคารสถานีเดิม จะถูกรื้อถอน คนรักรถไฟเสียดาย น่าจะหาแนวทางอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อรำลึกและเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง สมัยโบราณการคมนาคมที่ดีที่สุดคือรถไฟซึ่งมีความผูกพันวิถีชีวิตการเดินทางไปหาหาสู่กัน
ทั้งนี้สถานีรถไฟโคราช มีประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยมีหลักฐานอ้างอิงได้ ช่วงปลายปี ร.ศ.119 หรือ พ.ศ.2443 เป็นเวลาร่วม 124 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีกรุงเทพมหานครถึงสถานีโคราช (มณฑลนครราชสีมา) เป็นปฐมฤกษ์การเปิดเส้นทางรถไฟ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถือเป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวอาคารถูกเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดได้รับความเสียหายจึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่และเปิดใช้งาน พ.ศ.2498 และปีเดียวกันในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี ประทับรถไฟพระที่นั่งมาลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสานนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโคราช แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแนวคิดให้ทุบอาคารสถานีรถไฟเดิม อ้างเหตุผลเพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ แม้นภาคเอกชนได้นำเสนอแนวทางและมุมมองของสถาปนิกในประเด็นของสถาปัตยกรรม สามารถออกแบบหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโครงสร้างนวัตกรรมการพัฒนายุคใหม่ แต่ไม่มีเสียงตอบรับจาก รฟท.
แต่อย่างใด ล่าสุดผู้รับจ้างได้ทยอยรื้อรางรถไฟออก เพื่อเตรียมพื้นที่วางเสาตอม่อรถไฟความเร็วสูงและรื้อสิ่งปลูกสร้างด้านหน้าสถานี เพื่อสร้างอาคารสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ไทม์ไลน์รื้อถอนอาคารเก่าช่วงปี 68