วันที่ 21 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ สนามเฮลิคอปเตอร์ ชั่วคราว ที่ว่าการ อำเภอหว้าใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร พลตำรวจโท ภาณุรัตน์  หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย พลโท บุญสิน  พาดกลาง  แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24) และคณะ เดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนทางน้ำ บริเวณพื้นที่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

 

โดยได้เดินทางโดยรถยนต์ จากที่ว่าการ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมกดาหาร ไปยังจุดลงเรือ สถานีเรือมุกดาหาร บริเวณบ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร โดยมี ส่วนราชการ และ ชรบ ในพื้นที่ ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นได้ร่วมปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนทางน้ำตามแนวชายแดนไทย-ลาว บริเวณเลียบแม่น้ำโขง เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพล โดยเน้นย้ำให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองทั้งช่องทางท่าข้ามที่อาจจะใช้ในการลักลอบทำผิดกฏหมาย และป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยของชาติ

สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้เป็นมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การลักลอบขนส่งยาเสพติดข้ามแดน และป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ตามแนวชายแดน เน้นย้ำให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันสกัดกั้นการสกัดการกระทำผิดกฎหมายตามชายแดนในการปราบปรามสิ่งผิดกฏหมายข้ามชาติทุกชนิดอย่างเด็ดขาดอันเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ ให้ความสำคัญในการปราบปรามปัญหายาเสพติด ซึ่งรัฐบาลถือเป็นนโยบายเร่งด่วน และวาระแห่งชาติ โดยภัยจากยาเสพติด ถือเป็นภัยร้ายที่บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ  จากนั้นได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญ ให้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัย หมู่บ้าน (ชรบ.) ในพื้นที่ บ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

ทั้งนี้จากผลการปฏิบัติที่ผ่านมาสามารถสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงประกาศกำหนดพื้นที่มีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและผู้รับผิดชอบเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 ให้หน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) รับผิดชอบพื้นที่อำเภอชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  7 จังหวัด 25 อำเภอ ตามมาตรา 5 (10) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิบัติของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) ประกอบด้วย จังหวัดเลย ประกอบไปด้วย (อำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบึงโขงหลง อำเภอบุ่งคล้า อำเภอปากคาด) จังหวัดนครพนม (อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม อำเภอธาตุพนม) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่) จังหวัดอำนาจเจริญ(อำเภอชานุมาน) และจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขมราฐ) โดยมอบหมายให้ กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบหลัก ทำหน้าที่ในการวางแผน บูรณาการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติในการสกัดกั้น ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

ซึ่งหน่วยได้ยึดถือ กรอบแนวทางการปฏิบัติใน 6 มาตรการหลัก คือ มาตรการสกัดกั้น, มาตรการปราบปราม, มาตรการป้องกัน, มาตรการบำบัดรักษา, มาตรการบูรณาการ และมาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ในทุกมาตรการ เพื่อให้พื้นที่รับผิดชอบ ปลอดจากการลักลอบนำเข้ายาเสพติด, ไม่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด, ปัญหา ยาเสพติดด้านอื่นๆ ได้รับการแก้ไขประชาชนเกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินได้อย่างยั่งยืน

 

โดยสรุปสถิติและการปฏิบัติที่สำคัญ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 18 ธันวาคม 2567  ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร  สามารถจับกุม 22 ครั้ง ผู้ต้องหา 17 ราย โดยมีของกลางยาบ้ามากถึง 17,804,240 เม็ด, ไอซ์ 0,053 กิโลกรัม, เคตามีน 1.79 กิโลกรัม, ยาอี 1,484 เม็ด และ ฝิ่น 0.66 กรัม