พรรคพลังประชารัฐ ประชุมชาวตราดแจงปัญหาเขตแดนไทยกัมพูชาด้านเกาะกูด หวั่นเสียดินแดน หากรัฐบาลนิ่งเฉย ขณะกลุ่มประมงยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 2544

เวลา 09.00 น.วันที่ 21 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมเอวาดา ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบาย และวิชาการ และ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด โดยได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่ว่า ได้ติดตามเรื่อง MOU 2544 มีความห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐ จึงขอให้มาจัดกิจกรรมและให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวที่จังหวัดตราดเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหานี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีประชาชนชาวตราด นำโดยนายกาหลง หาดอ้าน ประธานชมรมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่บแวดล้อมและเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตราด และกลุ่มอื่นๆร่วมรับฟังกว่า 300 คน

หลังจากนายสนธิรัตน์ ได้กล่าวถึงการเดินทางมาจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่จังหวัดตราด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในปัญหาของชาวตราดที่ต้องรับรู้ในเรื่องของบ้านตัวเอง ซี่งวันนี้ เกาะกูด และพื้นที่ทะเลเกาะกูดกำลังมีปัญหาจากรายละเอียดของ MOU 2544 ซี่งหากปล่อยไปโดยไม่ออกมาทำความเข้าใจและคัดค้านแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่ออาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยให้กับกัมพูชา ซึ่งในรายละเอียดนั้น ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่เป็นเชื้อสายชาวตราดจะอธิบายให้ทุกคนรับทราบและเข้าใจ

จากนั้น ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้นำเรื่องราวความเป็นมาของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวข้องกับชาวตราด โดยเฉพาะการคืนจังหวัดตราดมาให้ประเทศไทยในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอานานิคมซี่งร.5 ได้นำ 3 จังหวัดในกัมพูชา คือ เสียมเรียบ ศรีโสภณ และพระตะบองแลกคืนจังหวัดตราดกลับมา ต่อมามีการลากเส้นอาณาเขตทางทะเลหรือเส้นเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล ซี่งหางกัมกัมพูชาลากกันคนละเส้น ซึ่งเส้นของกัมพูชาลากมาเข้าเกาะกูดของไทย โดยไม่ยึดกฏหมายสากล ซึ่งทั้งสองประเทศยังไม่ได้มีการเจรจากันอย่างจริงจัง และแม้จะมีการทำแต่ก็ตกลงกันไม่ได้กระทั่งเกิด MOU 2544 ขึ้น ซึ่งก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่ขยับ แต่กลับจะทำข้อตกลงเพื่อร่วมแบ่งปันพื้นที่ทางทะเล ซึ่งไม่ใช่เป็นของกัมพูชาแต่เป็นของไทย แล้วเราจะเอาทรัพยากรของไทยไปแบ่งครึ่งกับกัมพูชาได้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่พวกเราพรรคพลังประชารัฐมีข้อห่วงใย และขับเคลื่อนออกมาเพื่อให้รัฐบาลเกิดความตระหนัก และไม่นำดินแดนของไทยไปให้กัมพูชา และหากยังไม่แสดงความชัดเจนอาจะเกิดผลกระทบทั้งการเมือง และประชาชนในพื้นที่ได้ และที่อันตรายมากก็คือ แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไปนั้น เป็นจุดที่อันตรายมาก เพราะการวัดอาณาเขตจะต้องยึดแนวสันเขื่อนนี้ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างไว้นานแล้ว หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆก็จะกลายเป็นเขาพระวิหาร 2 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

“ในพระราชวงศ์จักรีมีพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 ที่มีเชื้อสายตราดสองพระองค์ คือ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ต้นราชสกุลเกษมศรี เพราะมีพระมารดา คือ เจ้าจอมมารดาจันทร์ ธิดาเจ้าเมืองตราด มีบ้านเกิดอยู่ที่หนองคันทรง ในอำเภอเมืองตราด ตนจึงมีความผูกพันกับตราดโดยสายเลือด ซึ่งผมจะไม่ยอมให้เกอดกรณีใดๆที่จะทำให้เกาะกูดเป็นของเขมรเด็ดขาด“
 
ประธานกลุ่มประมงชุมชนชายฝั่งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลตำบลหาดเล็ก ได้แสดงความห่วงใยว่า MOU 2544 ปรากฏเส้นเขตแดนทางทะเลกัมพูชาลุกล้ำทะเลจังหวัดตราดเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่ออาชีพการประมง กระทบต่อรายได้ความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายฝั่งทะเลตราดในอนาคต และที่สำคัญคืออาจเสียเขตแดนทางทะเลที่เป็นของคนไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา ต่อมาประธานกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลท่าพริก ได้กล่าวว่า ที่กลุ่มของตนเดินทางมาในครั้งนี้เนื่องจากกังวลใจต่อสถานการณ์ที่รัฐบาลพยายามเดินหน้า MOU 2544 ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของของคนตราด และสอบถามเรื่องที่รัฐบาลต้องการแบ่งผลประโยชน์ก๊าซและน้ำมันในทะเลตราดให้แก่กัมพูชาทั้งที่เป็นของประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะต้องเกิดขึ้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ที่ตนเดินทางมาในครั้งนี้ เพราะต้องการมารับฟังปัญหาทุกด้านจากพี่น้องประชาชนจังหวัดตราดด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง การทำการเกษตร ตนในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยินดีรับฟัง และจะหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอขอบคุณที่ติดตามปัญหาเรื่อง MOU 2544 และได้เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ ตนขอยืนยันว่า จะคัดค้านการกระทำใดๆ ที่จะทำให้ประเทศ และประชาชนไทยเสียประโยชน์
​​​​​​​
ตนเห็นว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 สุ่มเสียงต่อการเสียอาณาเขตทางทะเลของไทยที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงรักและหวงแหนเป็นที่สุด ยอมแลกพื้นที่กัมพูชาครึ่งประเทศเพื่อได้จังหวัดตราดกลับคืนมาจากฝรั่งเศส MOU 2544 เป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่รับรู้การลากเส้นเขตแดนทางทะเลตามอำเภอใจของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตของเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะทิศตะวันตกของเกาะกูด ชาวตราดย่อมได้รับผลกระทบ ทั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิเสธเส้นที่กัมพูชาขีด ด้วยการประกาศพระบรมราชโองการเส้นไหล่ทวีปของไทยไว้เมื่อ ปี 2516 ตนจึงขอยืนยันว่า ตนยืนเคียงข้างพี่น้องชาวตราดยึดมั่นในพระราชปณิธานปกป้องทะเลตราดเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานไทยสืบไป และขอขอบคุณพี่น้องชาวตราดที่มายื่นหนังสือในวันนี้

จากนั้น ตัวแทนขาวประมง 2 กลุ่มคือมนายกาหลง หาดอ้าน และนายเอก ขาวคม ได้ยื่นหนังสือให้นายสนธิรัตน์ สุทธิวรวงศ์ ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อแก้ไข MOU 2544 เนื่องจากทางกลุ่มฯได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือร้องเรียนให้ช่วยยับยั้งการดำเนินการตาม MOU 2544 ที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ เนื่องจากอาจทำให้ประเทศไทยต้องเสียพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดตราดโดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะกูด รวมถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะต้องเกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบชีวิตและการทำมาหาได้ของคนตราด ความเป็นอยู่ของของประชาชนในจังหวัดตราดอาจไม่เหมือนเดิมจากการดำเนินการตาม MOU 2544 ดังนั้น กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด จึงกังวลใจต่อ MOU 2544 และขอสนับสนุนให้ท่านช่วยดำเนินการยกเลิก MOU 2544 ด้วย

และนายเอก ขาวคม ประธานกลุ่มประมงชุมชนชายฝั่งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลตำบลหาดเล็กบอกว่า มีความห่วงใยในการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล เมื่อกลุ่มประมงชุมชนชายฝั่งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลตำบลหาดเล็ก ทราบว่า ท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์และคณะได้เดินทางมาที่จังหวัดตราด จึงขอยื่นหนังสือเพื่อ คัดค้านการดำเนินการใดๆ ตาม MOU 2544 ซึ่งอนาคตอาจทำให้เกิดปัญหาในการทำประมง ที่กระทบต่อรายได้ความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายฝั่งทะเลตราดในอนาคตและที่สำคัญคืออาจเสียเขตแดนทางทะเลที่เป็นของคนไทยทุกคนให้แก่ประเทศกัมพูชาในการนี้ กลุ่มประมงชุมชนชายฝั่งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลตำบลหาดเล็ก จึงรวมตัวกันมาเพื่อยื่นหนังสือขอคัดค้านการทำ MOU 2544 ผ่านท่านและคณะได้โปรดปกป้องทะเลตราดเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานไทยสืบไป