คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
ในที่สุด “โดนัลด์ ทรัมป์ ” ลูกจ้างคนใหม่ของชาวอเมริกันก็จะเข้าสู่พิธีสาบานตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 เพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนที่ 47
แต่การหยั่งเสียงครั้งล่าสุดจากการสัมภาษณ์คนอเมริกัน 1,011 คนของ “สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น” ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2024 ปรากฏผลออกมาว่า ผู้ที่ให้สัมภาษณ์แบ่งออกเป็นสองฝ่ายเกือบจะเท่าๆกัน โดยมีฝ่ายที่คิดในแง่บวกอยู่ที่ 52% และฝ่ายที่คิดไปในแง่ลบมีอยู่ที่ 48%
โดยฝ่ายที่มองในแง่บวกเล็งเห็นว่า การกลับมาของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ เขาจะสร้างผลงานที่ดี และจะทำให้ความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันกระเตื้องในทางที่ดีขึ้น เนื่องมาจากมีประสบการณ์จากการที่เคยบริหารประเทศในสมัยแรกมาแล้ว
ส่วนชาวอเมริกันที่มองในด้านลบเล็งเห็นว่า ในสมัยที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากเขาเป็นคนมีอคติ และยังเป็นผู้บ้าอำนาจ ที่อาจจะมีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯอ่อนแอไร้ซึ่งประสิทธิภาพ สังคมอเมริกันจะเต็มไปด้วยความหวาดกลัว โดยพวกเขายังคิดต่อไปอีกว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองเหนือกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ และจะปลุกปั่นให้คนเกลียดชังกัน แถมการที่เขาแต่งตั้งผู้บริหารในทีมดูๆไปแล้วล้วนแต่ขาดประสบการณ์แทบทุกคน!
เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังหาเสียงอยู่นั้น เขาเคยเอ่ยปากให้คำมั่นสัญญาว่า “จะไม่เป็นเผด็จการ” แต่กลับปรากฏว่า ขณะนี้เขาได้ออกมากล่าวชื่นชมยกย่องต่อ “ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน” ของรัสเซีย และ “ประธานาธิบดีคิม จองอึน” แห่งเกาหลีเหนือ และยังกล่าวยกย่องต่อ “วิคเตอร์ ออร์บัน” ผู้นำเผด็จการของฮังการี
ในช่วงหนึ่งของการหาเสียงประธานาธิบดีทรัมป์ ได้หลุดปากพูดออกมาว่า จะเป็นเผด็จการเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ประเด็นนี้เขาอาจจะหมายถึงวันแรกที่เขาก้าวขาเข้าสู่ทำเนียบขาว ที่เขาต้องการเปิดฉากประกาศโครงการต่างๆ เพื่อต้องการจะพลิกประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะขณะนี้เขามีอำนาจและมีบารมีแบบเบ็ดเสร็จ ที่ขณะนี้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร แถมศาลฎีกายังสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เขาอย่างกว้างขวาง ตราบใดที่เขาปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
โดยมีสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงแค่ในวันเดียวเท่านั้นก็มี อาทิ
อันดับแรก: เขาอาจจะสั่งการให้ปิดพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ซึ่งมี 4 รัฐด้วยกันคือ รัฐแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา นิวเม็กซิโก และ รัฐเทกซัส โดยในอดีตทั้งสี่รัฐนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก
สอง: ประธานาธิบดีทรัมป์จะปลด “อัยการพิเศษแจ๊ค สมิธ” ที่ฟ้องร้องเขาสองคดี แต่ก็ดูเหมือนว่าอัยการพิเศษคนนี้อาจจะชิงลาออกก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีทรัม์จะก้าวเข้าไปรับตำแหน่ง
สาม: ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็อาจจะออกคำสั่งเนรเทศชาวต่างด้าวหลายสิบล้านคนให้กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และหากเขากระทำเยี่ยงนั้นจริงๆก็จะกระทบกระเทือนต่อวงการอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องพึ่งแรงงานชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง
และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2024 ที่เพิ่งผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาให้คำสัมภาษณ์พิเศษ ณ สถานีโทรทัศน์ช่องฟอกซ์นิวส์ และยังได้ให้ข่าวเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2024 อีกด้วยว่าจะให้โอกาสกับกลุ่มเยาวชน ที่เรียกกลุ่มนี้ว่า “ Dreamers” โดยที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ต้องการที่จะทำงานร่วมกับพรรคเดโมแครตในการแก้ปัญหากลุ่มเยาวชนกว่าห้าแสนคน สำหรับเรื่องของเยาวชนกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น
สี่: ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าจะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกจำคุกในกรณีของ เหตุการณ์ก่อจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่ขณะนี้กำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกว่า 1,500 คน สืบเนื่องจากการที่พวกเขาร่วมกันบุกเข้าไปก่อการจลาจลในอาคารรัฐสภาขณะที่กำลังมีการประชุมเพื่อรับรองให้ “โจ ไบเดน” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ห้า: ประธานาธิบดีทรัมป์ จะหาทางเจรจายุติสงครามยูเครน และจะปฏิรูปองค์กรนาโตเสียใหม่
และหก: ประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะเซ็นคำสั่งอีกหลายๆฉบับด้วยกัน
ส่วนด้านการคิดบัญชีกับผู้ที่เป็นศัตรูภายในประเทศของเขา ประธานาธิบดีทรัมป์จะแต่งตั้ง “แคช พาเทล” ที่มีความจงรักภักดีกับตนเสมอมาขึ้นเป็นผู้อำนวยการของ “หน่วยเอฟบีไอ” คนใหม่ โดยแคช พาเทล มีรายชื่อศัตรูประธานาธิบดีทรัมป์ที่อยู่ภายในสหรัฐฯอยู่ในกำมือมากถึง 60 คน ส่วน “คริสโตเฟอร์ เรย์” ผู้อำนวยการของหน่วยเอฟบีไอคนเก่า ที่เขาเคยแต่งตั้งขึ้นเองเมื่อปีค.ศ. 2017ที่เขาก็ตั้งใจจะปลดออกจากตำแหน่ง ก็อาจจะชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งด้วยเช่นกัน
ส่วนเขาจะนิรโทษกรรมให้แก่ตัวเขาเองหรือไม่นั้น ก็คงเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในตอนนี้!!!
อย่างไรก็ตามเนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทะลาย ฉะนั้นผู้ที่เขาเสนอชื่อให้ไปรับตำแหน่งประจำตามกระทรวงต่างๆนั้น ก็อาจจะผ่านการคัดกรองและอนุมัติในตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆได้อย่างไม่ยากนัก เนื่องจากพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา โดยขณะนี้พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ที่ 53 ต่อ 47 เสียง
ส่วนคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญๆที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอมาก็มี เช่น “วุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ” ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประแทศ และยังเป็นที่คาดกันต่อไปว่า ตำแหน่งวุฒิสมาชิกในรัฐฟลอริดาที่ว่างลงในขณะนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็คงจะหาทางแต่งตั้งให้“ลารา ทรัมป์”ลูกสะใภ้ของเขาเข้าไปรับตำแหน่ง
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นๆก็มี เช่น
รัฐมนตรีกระทรวงคลัง: “สกอตต์ เบสเซนท์” ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ “กองทุนป้องกันความเสี่ยง”
รัฐมนตรีกลาโหม: “พีท เฮกเสธ” อดีตพิธีกรผู้ดำเนินรายการแห่ง “สถานีโทรทัศน์ช่องฟอกซ์นิวส์” ทั้งๆที่เขาผู้นี้มีประวัติด่างพร้อยในหลายๆด้าน แต่ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่สนใจและเพียรพยายามล็อบบี้ให้ พีท เฮกเสธ ได้รับตำแหน่งอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช
รัฐมนตรีมหาดไทย: “ดั๊ก เบอร์กัม” ผู้ว่าการแห่งรัฐดาโกตา ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ต้องการจะให้ก้าวเข้าไปรับตำแหน่งด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นดูเหมือนว่า “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ในการก้าวเข้าไปรับตำแหน่งในภาคสอง เขาอาจจะสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ซึ่งคงจะต้องจับตามองตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวขาเข้าสู่ทำเนียบขาวว่า เขาจะเปิดฉากวางตนเป็นนักเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จหรือไม่? เพราะดูเหมือนว่าขณะนี้พรรคเดโมแครตกำลังอ่อนแอราวกับเป็นเป็ดง่อยอยู่ละครับ