สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระกริ่งพัชรีตีอ๋อง หรือ เทาะทะลีทีอ๋อง หรือ ทีอ๋อง เป็นกริ่งนอกยุคต้นซึ่งนับว่าเป็นยอดนิยมที่หายากที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในพระกริ่งนอกด้วยกัน เท่าที่มีหมุนเวียนให้เห็นในประเทศไทยไม่น่าเกิน 10 องค์ เป็นพระกริ่งนอกอีกหนึ่งพิมพ์ที่ไม่พบว่ามีการบรรจุ ‘เม็ดกริ่ง’ เช่นเดียวกับพระกริ่งหนองแส แต่ก็จัดอยู่ในชุดพระกริ่งนอกเช่นกัน     

ถิ่นกำเนิดพระกริ่งทีอ๋อง สร้างในประเทศจีน สมัยราชวงศ์ถัง ประมาณปี พ.ศ.1349-1369 มีอายุอยู่ในราวพันกว่าปีขึ้นไป กล่าวกันว่าสร้างโดยกษัตริย์จีนโบราณ เพื่อพกพาติดตัวไว้ป้องกันภยันตราย จึงมีพุทธลักษณะประณีตงดงามมาก บ่งบอกถึงความเป็นพุทธศิลปะชั้นสูงของจีน ทรวดทรงองค์เอวได้สัดได้ส่วน สะท้อนถึงฐานะแห่งองค์จักรพรรดิทรงธรรม ลักษณะเครื่องทรงแสดงถึงลักษณะของนักบวชจีน อันนับเป็นแบบพิเศษทางด้านพุทธศิลปะของสกุลซัวไซ ที่เริ่มมีการสร้างพระ พุทธรูปเป็นลักษณะรูปมนุษย์เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังคงลักษณะดั้งเดิมของจีน ซึ่งผู้สร้างได้ถ่ายแบบมาจากพระพุทธรูป ที่วัดหลงเมนยี่ ใกล้นครลกเอี๋ยง ในลักษณะ “เจดีย์เก้าชั้น” 

เนื้อหามวลสาร-การจัดสร้าง สร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ทอง (เนื้อทองม้าฬ่อแก่ทองคำ หรือ ทองดอกบวบ) เนื้อในขององค์พระจะออกวรรณะทองแดง แต่ผิวชั้นนอกกะไหล่ด้วยทองคำ ลักษณะคล้ายพระกริ่งใหญ่และพระกริ่งบาเก็ง หากแต่มีความเก่าแก่มากกว่า ผิวนอกสีนํ้าตาลไหม้อมแดงแยกตัวคล้ายเกล็ดพิมเสน ในองค์ที่ไม่ผ่านการใช้จะแห้งสนิท เนื้อในออกเหลืองแก่ทอง เวลาโดนแดดจะเป็นประกายระยิบระยับแบบกระแสทองคำ                  

กรรมวิธีการหล่อแบบลอยองค์ โดยใช้แม่พิมพ์แบบ “พิมพ์ประกับ” หรือ “พิมพ์ประกบ” จึงปรากฏตำหนิเป็น “รอยตะเข็บ” ที่ด้านข้างขององค์พระทุกองค์ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ด้านหลังมีรอยอุดกริ่งในตัวแบบโบราณมาแต่เดิม เมื่อเขย่าดูจะได้ยินเสียงกริ่งวิ่งอยู่ข้างใน บางคณาจารย์ท่านว่ามีการฝังพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่กษัตริย์ยุคโบราณ ใต้ฐานอุดผสมผงเก่าเดิมๆ มีความแห้งและแข็งแกร่งมาก ทั่วไปมักพบเห็นแต่ก้นกลวง

พุทธลักษณะของพระกริ่งทีอ๋องนั้น ผู้สร้างพยายามเน้นให้เห็นถึงการแสดงออกทางกายวิภาคและอารมณ์อันสงบต่อการบำเพ็ญสมาธิภาวนา องค์พระประทับนั่ง เหนือฐานบัว 2 ชั้น 8 กลีบ แบบที่เรียกว่า ‘บัวฟองมัน หรือ บัวเมฆขด’ หมายถึง ทรงบำเพ็ญตนอยู่บนอริยมรรค, พระพักตร์เคร่งขรึมบอกถึงความจริงจัง, พระศกเป็นแบบก้นหอยใหญ่, พระหนุ (คาง) แหลม, ปลายพระเนตรชี้สูง แสดงถึงความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ, จีวรแกะลวดลายสวยงามชัดเจน, พระหัตถ์ซ้ายถือเจดีย์ยอดเปลวเพลิง อันหมายถึงความรุ่งโรจน์และการตั้งมั่นในหลักธรรม ดอกบัวแปดกลีบที่เป็นบัลลังก์อยู่ตอนหน้าฐาน หมายถึง มรรคแปด ถ้ารวมกันจะนับได้ 16 กลีบ หมายถึง ‘จับหลักกวงมึ้ง’ ที่พระองค์ได้สร้างถึง 16 โลกธาตุ ดินแดนแห่งอมตะ ตามลัทธิศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ด้านหลัง ฐานเรียบแต่มีรอยเจาะอุดกริ่งหรือพระบรมสารีริกธาตุมาแต่เดิม ส่วนองค์พระจีวรแกะลายเป็นเหลี่ยมๆ สวยงาม คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของจีนอย่างเต็มรูปแบบ

แนวทางการพิจารณาพระกริ่งพัชรีตีอ๋อง มีหลักการพิจารณาเอกลักษณะแม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาพิมพ์ทรงแล้ว ให้ดูความย่นของเนื้อโลหะที่มีส่วนผสมของทองคำมาก ถ้าไม่ผ่านกาลเวลามายาวนานจริงๆ จะไม่ย่นหรือยุบตัวได้ง่าย แต่ถ้าผ่านกาลเวลายาวนานมากๆ ภาษาเซียนจะเรียกว่า “เนื้อโลหะกินตัว” ซึ่งเป็นการบ่งบอกตามธรรมชาติถึงความเก่าแก่ว่าถึงยุคจริงหรือไม่ รวมถึงขุมสนิมเขียวสนิมแดงที่ขึ้นประปรายทั่วทั้งองค์ ทำให้แลดูซึ้ง และคราบไขที่แห้งสนิทติดองค์พระ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงความเก่าได้เป็นอย่างดี

ทางด้านพุทธคุณนั้นเด่นทางอำนาจ เจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ใช้ทำนํ้ามนต์สำหรับอาบและดื่ม เพื่อบรรเทาและหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ครับผม