วันที่ 20 ธ.ค.2567 เวลา 12.50 น.ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว ถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับประชาชนอาจสับสน ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด วันนี้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน ซึ่งวันนี้ก็เชิญการรถไฟแห่งประเทศไทยมาด้วย เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงจากประชาชน และหน่วยราชการในพื้นที่ และจากการพบปะประชาชนก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟ เป็นที่ที่ประชาชนสามารถอยู่ได้ ตนดูข้อมูลที่ผู้ใหญ่บ้านแจ้งมาว่าอยู่ตั้งแต่ปี 2460 ก่อนที่จะมีการออกกฤษฎีกา สำรวจแนวเขตของการรถไฟ ซึ่งหากการรถไฟ ประสงค์ที่ดิน ก็ต้องออกกฏหมายพระราชบัญญัติกฤษฎีกา เพื่อจัดซื้อจัดหาที่ดินการรถไฟ ให้ชัดเจน
เมื่อถามย้ำว่าการที่การรถไฟไม่เดินทางมาในวันนี้จะเป็นอีแอบใช่หรือไม่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เราได้มีการเชิญในเบื้องต้นแล้ว จริงๆการรถไฟต้องมา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพิพาทกัน เพราะอย่างตนในฐานะกำกับดูแล กรมที่ดินยังต้องมา เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการริดรอนสิทธิของทั้งสองฝ่าย
เมื่อถามย้ำว่าการที่การรถไฟออกมาขยับเช่นนี้มีการเมืองหนุนหรือไม่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังยืนยันไม่ได้ ว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือไม่ สังเกตดูว่าทุกครั้งที่ออกมาจะเป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนของการเมือง และเป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องกับคนการเมือง ดังนั้นถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงเป็นไปไม่ได้ คงจะเกี่ยวบ้างเล็กน้อย
เมื่อถามว่ามีการหยิบยกการเมืองมารุกสิทธิ์ประชาชนมองอย่างไร นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะสิทธิ์ที่ทำมาวันนี้กระทบกับประชาชนไม่ใช่รายเดียว จึงต้อง ทำให้เกิดความชัดเจน และสร้างความมั่นใจกับประชาชน ว่าเอกสารสิทธิ์ที่ได้มานั้นถูกต้อง
เมื่อถามว่าการเมืองถูกมองว่าเรื่องนี้ถูกตีกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะทำกับประชาชนจำนวนมาก เพราะการได้มาซึ่งที่ดินของประชาชนในการครอบครองนั้นถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ มาตามประมวลกฎหมายที่ดินทุกอย่าง ถ้าการรถไฟบอกว่าเป็นที่ของการรถไฟ ก็เป็นหน้าที่ของการรถไฟ ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน ที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์การได้มาซึ่งที่ดิน ตามกฎหมายของการรถไฟ และที่ทราบมาการรถไฟยังหาหลักฐานแผนที่ท้ายกฤษฎีกาไม่ได้เลย และเมื่อช่วงเช้าตนได้ฟังสส.ของพรรคประชาชน แผนที่ที่แสดงในศาลกับแผนที่ที่แสดงกันยาวๆไม่ค่อยตรงกัน
“พบข้อพิรุธจำนวนมาก ทั้งสัดส่วนและระยะ และความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินต่างจากทางรถไฟกว่า 1 กิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่อื่นนั้นไม่มี และพื้นที่ทางแยก ผมมองว่าที่ไหนก็มีกฤษฎีกาหมด ก่อนตั้งคำถามว่าพื้นที่ทางแยกเขากระโดงเป็นเพียงพื้นที่เดียว หรือที่ได้รับการยกเว้น ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่ว่าเป็นเรื่องของกรมที่ดิน แต่ผมในฐานะที่กำกับดูแลก็ได้กำชับอธิบดี ว่าต้องทำตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ”นายทรงศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่ให้กรมที่ดินและการรถไฟ เปิดโต๊ะพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจน นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ได้รวบรวมพยานและหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว และอนาคตก็เป็นไปได้ เนื่องจากส่งผลกระทบกับประชาชน จำนวนมาก จึงต้องมีการพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย และมองว่าการรถไฟเองต้องนำพยานหลักฐานมาให้ประชาชนนั้นเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ยึดเพียงว่าเป็นคำสั่งของศาลแล้วจะเป็นที่ของการรถไฟ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทรงศักดิ์ พร้อมอธิบดีกรมที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดงตรวจสอบจุดสิ้นสุดของทางรถไฟ ที่กิโลเมตร 6.2 ซึ่งแตกต่างจากจุดที่การรถไฟฯแสดงสิทธิ์ที่หลักกิโลเมตร 8 ระหว่างลงพื้นที่นายทรงศักดิ์ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว และพบกับคุณยายอายุ 109 ปี ที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เด็ก และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ปี2462
นอกจากนี้ยังเดินทางไปพบชาวบ้านอีกกลุ่ม และนำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2497 ซึ่งแสดงแปลงที่ดินที่มีหลักฐานการได้มาก่อนปี 2462 บริเวณพื้นที่เขากระโดง ซึ่งคุณยายวัย80 ปี มีหลักฐาน สค.1 ที่รับมรดกจากตาทวด ตั้งแต่ปี 2438 มาแสดงให้นายทรงศักดิ์ดูด้วย