ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความสนุกสนานคือความสุขแค่บางส่วนในชีวิต บางคนจึงพยายามเติม “ชีวา” คือหาความสนุกสนานให้มากขึ้นไปอีก
ช่วงที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยคือช่วงชีวิตที่ปรีดาบอกว่า “สนุกมาก ๆ” โดยที่ปรีดามีนิสัยแปลก ๆ อยู่อย่างหนึ่ง คือชอบสอดรู้สอดเห็นในเรื่องคนอื่นเอามาก ๆ แถมยังชอบ “เผือก” คือเข้าไปยุ่งในเรื่องของคนอื่นอยู่เสมอ ๆ อีกด้วย ซึ่งเขาแก้ตัวว่าน่าจะเป็นนิสัยที่ชอบช่วยเหลือผู้คนนั้นมากกว่า คือถ้าเห็นใครมีปัญหาอะไรก็อยากเข้าช่วยเหลือ ทั้งตัวเขาเองก็ไม่ชอบที่จะทอดทิ้งปัญหา เมื่อช่วยใครแล้วก็อยากจะช่วยจนปัญหานั้นหมดไป หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนๆ นั้นมีความสุข เพราะในเวลาที่เขาเห็นคนที่เขาเข้าไปช่วยเหลือนั้นมีความสุข เขาเองก็พลอยมีความสุขไปด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาบอกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มากแต่ได้ผลตอบแทนที่ดี
เขาอาสาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายหลายอย่างในมหาวิทยาลัย ยิ่งมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ผู้คนจึงมีความหลากหลายและแยกย่อยมาก โดยเฉพาะนักศึกษาที่มาจากทุก ๆ จังหวัดทั่วประเทศ ปรีดาได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัด 7-8 จังหวัด แม้ว่าเขาจะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เขาก็อ้างว่าเขามีญาติอยู่ในจังหวัดโน้นจังหวัดนี้หลายคน ทว่าความจริงก็คือเขาอยากจะไปเปิดหูเปิดตาในบางจังหวัดที่เขาสนใจ เพื่อจะได้อาศัยกิจกรรมของกลุ่มไปเที่ยวในจังหวัดที่เขาสนใจนั้น
ปรีดาเดินทางไปต่างจังหวัดเกือบทุกเดือน ด้วยความที่เขาเป็นคนช่างโอภาปราศรัยและชอบ “เผือก” ช่วยเหลือผู้คน ทำให้เขาเป็นที่ชอบพอในหมู่เพื่อน ๆ ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ เหล่านั้น จนกระทั่งเกิดความสนิทสนมแล้วเพื่อนก็ชวนเขากลับไปเที่ยวบ้านของเพื่อนนั้นด้วย เพื่อนหลายคนของเขามีฐานะดี เวลาที่เดินทางเขาจึงไม่ค่อยได้ใช้จ่ายอะไรมาก กินฟรี พักฟรี แต่เขาก็ไม่ทำให้ญาติ ๆ ของเพื่อนรังเกียจ เพราะเขาชอบที่จะช่วยทำงานโน่นนี่ให้แก่ญาติ ๆ ของเพื่อน รวมถึงให้ความสนุกสนานเฮฮาในเวลาที่มีงานรื่นเริงหรืองานประเพณีต่าง ๆ นั้นเสมอ ๆ จนเป็นที่รักของทุกคน ซึ่งการอาสาช่วยงานให้กับญาติ ๆ ของเพื่อนก็ได้ทำให้เขา “รู้เยอะ” และทำงานอื่น ๆ ได้หลายอย่าง ตั้งแต่การทำไร่ ทำนา ทำสวน จนกระทั่งทำกับข้าว ทำขนม และการฝีมือต่าง ๆ ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “กำไรชีวิต” เอามาก ๆ
เพื่อน ๆ ของเขาส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยตามระยะเวลาเรียนที่กำหนด คือไม่เกิน 4 ปี แต่เขานั้นยังต้องเรียนต่อมาอีกกว่า 5 ปี ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาชอบเที่ยวไปในจังหวัดต่าง ๆ มากกว่าการเรียนดังกล่าว แม้ว่าทางบ้านจะตักเตือนจนกระทั่งด่าว่าอย่างไร เขาก็ดูเหมือนจะชาชิน จนสุดท้ายนั้นเขาได้ออกไปอยู่กับเพื่อนที่ต่างจังหวัดครั้งละนาน ๆ จนทางบ้านยื่นคำขาดไม่ยอมรับเป็นพ่อแม่และลูกกันอีกต่อไป แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ไม่เดือดร้อน ทั้งยังได้รับการอุปการะจากเพื่อนบางคนด้วยดี ให้ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านในต่างจังหวัดนั้นได้ตามสบาย แต่ดูเหมือนว่าเขาจะชอบเปลี่ยนสถานที่พักไปเรื่อย โดยมีความสุขกับการได้เห็นสิ่งแปลกใหม่และผู้คนใหม่ ๆ ในสถานที่ใหม่ ๆ นั้นไปด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งถึงขนาดที่ได้เข้าร่วมเป็น “นักรบกู้ชาติ” ให้กับชนกลุ่มน้อยแถวชายแดนไทยพม่านั้นโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย
ปรีดาเล่าถึงเรื่องราวตอนนี้ด้วยความตื่นเต้นเหมือนยังเพิ่งผ่านเหตุการณ์นั้นมาสด ๆ ร้อน ๆ เขาบอกว่าในปีที่พ่อกับแม่ยื่นคำขาดตัดความสัมพันธ์กับเขาและให้เขาออกจากบ้านไปเสีย เขาก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร เพราะเขามีที่ทางที่จะไปขอเพื่อนหลาย ๆ คนพักอาศัยอยู่ด้วยได้นั่นเอง ตอนแรกเขาก็ไปหาเพื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนคนนี้มีบ้านอยู่ที่เหนือเขื่อนศรีนครินทร์ ติดไปทางอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เขาไม่รู้ว่าเพื่อนเป็น “ผู้อุปถัมภ์” ให้กับกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังต่อสู้อยู่กับทหารของรัฐบาลพม่า(ตอนนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมียนมาร์”)อยู่ตามแนวชายแดน เพราะตอนแรกที่เพื่อนพาไปดูค่ายทหารของกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ บอกกับเขาแต่เพียงว่าจะพาไปดูบ้านพัก “คนงาน” ในไร่ที่ในป่า โดยออกจากบ้านพักของเพื่อนในหมู่บ้านไปด้วยรถปิกอัพในตอนเช้าและไปถึงในตอนบ่ายแก่ ๆ เท่าที่เขาจำได้ระยะทางน่าจะไม่ถึง 100 กิโลเมตร แต่เส้นทางทุรกันดารมาก จนต้องใช้เวลาเกือบสิบชั่วโมงดังกล่าว
ค่ายนี้เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ๆ น่าจะไม่เกินครึ่งปี ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาแคบ ๆ ปลูกเป็นกระท่อมไม้ไผ่กระจายอยู่ตามร่มไม้ปกบังไว้ มีประมาณ 30 หลัง แต่ละหลังมีคนอยู่ 5-10 คน รวมประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ทุกคนพูดไทยได้เพราะเกิดและเติบโตในแผ่นดินไทย ปู่ย่าตายายของพวกเขาอพยพเข้ามาไทยตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนที่พม่าเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ ๆ แต่พวกชนกลุ่มน้อยต้องการแยกตัวออกมาเป็นเอกราชจากพม่าอีกต่างหาก แต่พม่าไม่ยอมและพยายามปราบปรามเพื่อรวบรวมกลับคืน จนเป็น “สหภาพพม่า” ในตอนนั้น เว้นแต่กลุ่มที่ไม่ยอมหรือพม่ายึดคืนไม่ได้ อย่างชนชาติกะเหรี่ยงแถวชายแดนไทยพม่าเหล่านี้
เพื่อนบอกว่าแม่เขาเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ แต่พอแต่งงานกับพ่อแล้วก็เข้าไปอาศัยอยู่ในตัวอำเภอจนได้เปลี่ยนเป็นคนไทย แรก ๆ ก็ไม่ได้ติดต่อกับญาติ ๆ ที่อยู่ตามชายแดนนี้เลย แต่ตอนหลังรัฐบาลพม่าไล่กวาดล้างพวกชนกลุ่มน้อยรุนแรงมากขึ้น ๆ บางคนก็หนีมาขอความช่วยเหลือจากแม่ เพราะรู้ว่าแม่ได้มาปักหลักปักฐานในฝั่งไทยและมีฐานะพอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้ กระนั้นก็ต้องทำอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ซึ่งพอมาถึงสมัยของเพื่อนรับช่วงดูแลต่อจากพ่อแม่ ตอนนั้นมีข่าวว่ารัฐบาลไทยจะยอมรับให้ชนกลุ่มน้อยนี้มาตั้งหลักปักฐานในไทยได้ โดยอาจจะมีการให้สัญชาติเป็นไทยต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีการ “สร้างเสริมความเป็นไทย” ให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ก่อน เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนหนุ่มสาวที่ถูกฝึกมาเป็น “นักรบ” จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอบรมให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียก่อน เพื่อนจึงพาปรีดามาเพื่อให้เป็น “ครู” สั่งสอนให้เกิด “ความเป็นไทย” ต่อไป
ปรีดาอยู่ที่ในค่ายกะเหรี่ยงของเพื่อนเป็นเวลาเกือบปี เขาทำหน้าครูอย่างสนุกสนาน เขาสอนตามความจำที่เขาได้เรียนรู้มา มากกว่าที่จะสอนตามหนังสือ ความรู้ที่จำได้นั้นส่วนใหญ่ก็มาจากวิชาลูกเสือที่เขาเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม ซึ่งวิชาลูกเสือก็มีเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชาติไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทยอยู่มาก รู้สึกว่าลูกศิษย์ของเขาเกือบสองร้อยคนนั้นก็ชอบเขาเอามาก ๆ มีบางครั้งก็ชวนเขาไปฝึกการใช้อาวุธและยุทธวิธีทางทหาร แต่เขาก็ฝืน ๆ ยอม ๆ ไป เพราะไม่ค่อยจะสนุกร่วมไปด้วยเท่าใดนัก ในค่ายช่วงที่เขาอยู่มีแต่ความสนุกสนานรื่นเริง มีการจัดงานร้องรำทำเพลงเกือบทุกอาทิตย์ ที่ปรีดาเรียกว่า “งานเฉลิมฉลองความเป็นไทย” โดยรวบรวมเอาการละเล่นและการแสดงต่าง ๆ ของไทยทุก ๆ ภาค มาให้นักเรียนชาวกะเหรี่ยงของเขาเหล่านี้ได้มาร่วมสนุกสนานรื่นเริง
วันหนึ่งเพื่อนมาบอกกับเขาว่า รัฐบาลไทยไปตกลงกับรัฐบาลพม่าที่จะเลิกสนับสนุนชนกลุ่มน้อย ดังนั้นจึงอาจจะเป็นไปได้ที่ชนกลุ่มน้อยจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ค่ายในหุบเขาตรงชายแดนนั้นจึงต้องย้ายไปหาที่ตั้งใหม่ ปรีดาได้ร่ำลานักเรียนของเขาด้วยความโศกเศร้า แต่ก็ยังหวังว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการกอบกู้ชาตินี้ได้ในที่สุด
ครั้งนั้นปรีดาก็มีความสุขว่า แม้แต่ในยามศึกสงคราม ความสุกสนานร่าเริงก็ช่วยสร้าง “ชีวา” ให้แก่ทุกคนได้เป็นอย่างดี