ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“เมื่อชีวิตของเราผูกพันอย่างลึกซึ้งกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด..อารมณ์และความรู้สึกก็ย่อมจะเบิกบานและเต็มไปด้วยนัยของสัมพันธภาพ..มันคือจักรวาลภายในของชีวิตที่สรรค์สร้างความทรงจำที่ไม่เคยตายให้กับเรา..

มโนสำนึกแห่งอารมณ์เช่นนี้..คือย่างก้าวสำคัญของจิตใจ ที่จะเติบใหญ่ไปเบื้องหน้า ในทุกๆสถานการณ์ของภาวะชีวิต..อย่างเช่น บริบทแห่งการรับรู้ภายในอันสำคัญ..ที่ส่งผล...กระทบต่อสัญชาตญาณของการมีอยู่..อันยากจะลืมเลือน..เป็นความ “ทรงจำในทรงจำ” แห่งวิถีธรรมของการหยั่งรู้..ที่ยากจะปฏิเสธได้..

“คนที่เรารักจะไม่มีวันตาย..ตราบใดที่ใครคนหนึ่งยังรักเรา..”

สาระที่กัดกินใจนี้..คือความงามของนวนิยายเยาวชน..ที่สื่อถึงความหมายอันตื่นตระการที่แนบชิดกับชีวิตอย่างอ่อนโยนด้วยหัวใจของความรัก.. “ตาผมเป็นต้นเชอร์รี่” (My  Grandfather was a cherry tree/Mio nonno era un cilliegio)..ประพันธกรรมของ"แองเกลา นาเนตติ"(Angela Nanetti)..นักเขียนหญิงชาวอิตาลี ผู้ได้รับรางวัลในการเขียน “วรรณกรรมเยาวชน” จากนวนิยายเรื่องนี้..เรื่องราวของเด็กชายวัย 4 ขวบ “โตนีโน่” ผู้ไม่ชอบมีชีวิตอยู่ในเมือง..เขารักชีวิตชนบทและชอบอยู่กับตาและยายที่นั่น..

ตาของเขาอาจมองดูแปลกต่างจากทุกคนในสายตาของเพื่อนบ้านหรือคนอื่นๆ..แต่สำหรับเขาแล้ว..ตาเป็นคนใจดี.มีเมตตา..ที่เขาสัมผัสและรู้สึกได้เสมอ..ตาสอนเขาให้มีจินตนาการ...และมีผัสสะกับการทดลองความจริงของชีวิต..ให้เขาทดลองปีนต้นเชอร์รี่..และทดลองสัมผัสฟังเสียงต้นไม้ต้นนี้หายใจ..สัมผัสรู้เช่นนี้ต่อสัมพันธภาพแห่งใจที่ไร้ขอบเขต..มันเป็นนามธรรมที่ชีวิตหนึ่งๆต้องเรียนรู้..รับรู้ และจดจำ..

ตารักต้นเชอร์รี่ต้นนี้..เพราะตาได้ปลูกมันขึ้นในวันที่แม่ของโดยนีโน่ เกิด..มันคือสัญญะในเบื้องลึกของความรักความผูกพันที่ไม่เคยตาย..

นอกจากนี้..ตายังรักยายผู้เป็นภรรยามากๆด้วย..แม้เธอจะมีสรีระที่ไม่สวยงาม..ตัวอ้วนเหมือนนักมวยปล้ำ..แต่เธอก็คือความรักอันแท้จริงและบริสุทธิ์ของตา..และนางก็ยังมีห่านอีกตัวหนึ่ง “อัลฟอนซีนา” ที่รักและคอยดูแลนางด้วยการเดินตามนางไปในทุกที่ทุกทาง..เหมือนผู้พิทักษ์ดูแล..

ภาพพจน์แห่งสายสัมพันธ์อันเกาะกินใจเช่นนี้..คือบทเริ่มต้นแห่งฉากทัศน์ของชีวิต..ที่ชวนโอบประคองและสนองรับในเจตจำนงของเรื่องราวแห่งชีวิตทั้งหมด..ในประเด็นที่ว่า..ความรักที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นได้จากหัวใจอันแท้จริง ที่สัมผัสได้ถึง “ความรู้สึกรักแห่งผูกพัน..อันมีค่านั้น!..”

ต่อมา..ทางเทศบาลมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน..เพื่อตัดถนน ซึ่งจะต้องตัดผ่านสวนของตา..ทำให้ตารู้สึกกังวลใจ และ เสียใจ จนล้มป่วยลงอย่างหนัก..กระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด..

ที่สุด..เทศบาล ก็จะมาตัดต้นเชอร์รี่ ตามโครงการที่ได้ระบุไว้..แต่ “โตนีโน่” ..ซึ่งตาได้สอนให้รักให้ผูกพันกับเชอร์รี่ต้นนี้..ก็ขัดขืนและไม่ยอมให้ใครมาโค่นได้..เขาปีนขึ้นไป “ขัดขืน” บนต้นเชอร์รี่อย่างหัวชนฝา..

จนนายกเทศมนตรีของเมืองต้องมาไกล่เกลี่ย..โดยให้สัญญาว่า..จะไม่โค่นเชอรี่ต้นนี้..นั่นคือบทพิสูจน์อันล้ำค่าของความรักความผูกพันอันล้ำลึกของชีวิตกับธรรมชาติ..ระหว่างสิ่งที่พูดได้กับพูดไม่ได้..และ ระหว่างความจริงแท้..แห่งสัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่ กับ..ภาระบาปของการรุกทำลาย..

สุดท้าย “โตนีโน่” ก็ย้ายการดำรงอยู่ของชีวิตจากในเมืองไปอยู่ ณ นิวาสสถานของตากับยายที่เป็นรากเหง้าของตัวตนอันแท้จริง..

แม้เมื่อบริบทของ..เรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องที่เก่าไปแล้วในความตื่นตัวตื่นใจของโลกวันนี้..แต่นับแต่อดีต  ผ่านปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต..ชีวิตของโลกก็ผลัดกันถูกกระทำเช่นนี้ มาโดยตลอด และ ไปโดยตลอด..มันคือโศกนาฏกรรมอันซ้ำซาก..ที่มักจะเกิดขึ้นในทุกยุค ทุกสมัย และ ในทุกเวลานาทีแล้วค่อย..ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง...ได้เลย แม้เมื่อใด..!

..ผมประทับใจและติดตรึงกับภาวะความผูกพันระหว่างตากับหลานในนวนิยายเรื่องนี้อย่างอิ่มเอม..ความเชื่อมใจและเชื่อมความรู้สึกระหว่างตากับหลานในเรื่องนี้..คือโครงสร้างแห่งการก่อเกิด กิ่งก้านแห่งการเติบโตของชีวิตอันประเสริฐ..

..ซึ่งตาได้ปลูกทุกอย่างขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อ..เมื่อตาได้หว่านเมล็ดพันธุ์และรดน้ำ ณ แปลงหนึ่ง..อีกแปลงหนึ่ง ตาก็จะเก็บเกี่ยวผลพวงสลับกันไป ..ดั่งนี้ตลอดทั้งปี

“..แปลงผักของตา จะไม่เคยว่างเปล่าเลย” ...ขณะที่ผมงัวเงีย..ผมจะได้ยินเสียงตาตีไข่อยู่ชั้นล่าง...ต็อก ต็อก ต็อก ต็อก..ผมจะค่อยๆตื่น...และ ขณะที่ลืมตา ผมจะมองดูแสงแดดที่สาดเข้ามาทางช่องหน้าต่าง..เมื่อทุกอย่างพร้อม...ตาก็จะขึ้นมาบนห้องของผม..แล้วเสียงเพลงนี้ก็ดังขึ้น..

“ฤดูใบไม้ผลิแล้ว..เด็กๆทั้งหลายเอ๋ย..จงตื่น..”

ยิ่งสัมผัสด้วยการฟังเสียง  คลื่นรับการสื่อสารจากหัวใจ..ผ่านการอ่านและการซึมซับด้านลึกจากหนังสือเล่มนี้..ก็ยิ่งจะพบกับห้วงขณะของการครุ่นคิดและใคร่ครวญจากบทบาทแห่งคำสอนของตาได้..อย่างดื่มด่ำกระทบใจมากยิ่งขึ้น..มันคืออุทาหรณ์..สอนจริตที่ค่อยๆฝังรากลึกลงไปในใจเรา..ยิ่งๆขึ้น..

....ตาสอนผมหลายอย่าง..ตาสอนให้ผมฟังเสียงต้นไม้..เมื่อเรานั่งอยู่ใต้ต้นเชอร์รี่..ตาบอกให้ปิดตาแล้วฟัง...แล้วเสียงลูกนกจะค่อยๆดังขึ้น..ดังขึ้น...ตาบอกว่า..เห็นไหม “แม่นก” กำลังป้อนอาหาร และลูกนกกำลังแย่งกันใหญ่เลย..

...ฟังอีกนิดซิ...แล้วหลานจะได้ยินเสียงต้นไม้..!

แล้วผมก็ได้เห็น..แล้วผมก็ได้ยินเสียงใบไม้..ไม่สิ"เห็น"ใบของต้นเชอร์รี่ทุกใบ..กำลังไหวเบาๆ ..ตาทำให้ผมรู้ว่า..บางครั้ง..การฟังทำให้เราเห็นยิ่งกว่าการดู...!

ตาปีนต้นไม้เก่งมาก และ ตายังสอนให้ผมปีนต้นเชอร์รี่-เจ้าเฟลิเซ่ “ความลับอยู่ในนี้...” ตาบอกพร้อมกับแตะที่หัว..

“หลานต้องคิดว่า..ตัวเองเป็นนก หรือไม่ก็แมว..” ต้องคิดว่า ตันไม้เป็นเพื่อน เป็นบ้าน...ต้องทำตัวสบายๆ..แล้วทีนี้ก็ปีนขึ้นไป ไม่ต้องกลัว เพราะ “เฟลิเซ่” จะคอยพยุง หลานไว้..”

*แม่เคยบอกว่า..ตาเป็นคนประหลาดของโลก..ผมไม่แน่ใจหรอกว่า..จริงไหม?

..ตาอาจทำอะไรหลายๆอย่าง..ที่หลายคนไม่คาดคิด อย่างการปลอมตัวเป็นซานตาคลอส ไปหาผมและเพื่อนๆที่โรงเรียน..อย่างการตกแต่งประดับประดา..โคมไฟให้ “เฟลิเซ่” ในคืนวันคริสต์มาส..หรือการก่อไฟให้ความอบอุ่นต้นเชอร์รี่ เพราะกลัวว่าดอกของมันจะร่วงเสียหมด..

...แม่หรือใครๆอาจจะเรียกว่าประหลาด..แต่สำหรับผม.. “นั่นคือตา ที่ผมจดจำได้เสมอ..”

..ในเบื้องท้ายสุดของชีวิต..ตาไม่ได้กลับบ้านอีกเลย...ตาที่ต้องมาอยู่ในบ้านของแม่ในเมือง..ไม่มีสวน ไม่มีผัก ไม่มีต้นเชอร์รี่..ระยะหลังๆ...เมื่อแม่ตัดสินใจพาตาไปรับการดูแลในสถานพยาบาล..ทั้งๆที่ตายืนยันว่า อยากจะกลับบ้านของตา..ตาอยากกลับไปหาไปดูต้นเชอร์รี่... “สำหรับผมแล้ว ตาที่ต้องอยู่ในห้องขาวๆ ระเบียงยาวๆ ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นยา ตาที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรตรงตามเวลาที่ใครสักคนกำหนดให้..ตาที่ไม่สามารถเลือกกินอะไรได้..นั่นไม่ใช่ตาของผม..ไม่ใช่ตาที่ผมรู้จักเลย”

เหตุนี้..ในเช้าวันหนึ่ง หลายเดือนหลังจากที่ตาไปอยู่ในสถานพยาบาล..แม่ได้ร้องไห้มาบอกผมว่า"ตาได้จากเราไปแล้ว"..ผมจึงไม่รู้สึกอะไรเลย..!

...ผมบอกแม่ไปว่า...ผมเห็นภาพตาอยู่ข้างหน้าต่าง ในห้องสีขาวล้วนนั้น ตาตัวบาง และตัวเบาขึ้นเรื่อยๆ..สุดท้ายก็ลอยไป..ตากลายเป็นขนนก..ผมดีใจที่ตาลอยไป..!

“ตาจะลอยไปจนถึงยายไหม?”..ผมถามแม่....แม่หยุดร้องไห้แล้วกอดผม

“ถูกของลูก..ตาลอยหนีไปจริงๆนั่นแหละ..สถานที่แห่งนั้น..ไม่เหมาะสำหรับตา มันคือ “คุก”...”

ทั้งหมดในเรื่องเล่าแห่งนวนิยายที่กัดกินใจเรื่องนี้..คือภาพสะท้อนในภาพสะท้อนแห่งจิตวิญญาณของการดำรงอยู่..คล้ายดั่งรูปรอยอันเร้นลึกเชิงสัญลักษณ์.. “เชอร์รี่..มีสีแดงงามสดใส มันทั้งชนิดรสหวานและรสเปรี้ยวเป็นตราประทับของชีวิต..และที่สำคัญ..เชอร์รี่สามารถรักษาและเยียวยาโรคหัวใจได้...”

ตัวอย่างเหตุการณ์..ที่ได้ยกมากล่าวอ้างถึงทั้งหมด คือร่องรอยของความทรงจำของ “พื้นที่ชีวิตอันมีความหมาย” ระหว่างเมืองกับชนบท.. “ระหว่างชีวิตที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ กับชีวิตที่ปรุงแต่งที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อันไร้ชีวิต..น่าเสียดาย..ที่ ณ วันนี้เราเลือกบูชา และ ใช้ชีวิตอย่างหลัง จนลืมวิถีแห่งกำพืด และเหมือนเป็นคนที่ไร้หัวใจ..

ภาพแสดงที่ย้ำเตือน..ซึ่งปรากฏในเรื่องเล่าเรื่องนี้..คือรูปสลักของกาลเวลาแห่งยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน..ผ่านพ้นยุคแห่งเกษตรกรรม ก้าวสู่ยุคสมัยของอุตสาหกรรม กระทั่งกำลังล่วงเข้าสู่ยุค IT..อันไร้วิญญาณสำนึกอย่างเต็มรูป ณ วันนี้..

รสชาติอันเป็นธรรมชาติดั่งเดิมของโลกแห่งชีวิตกำลังจะสูญสิ้นไป..ความสำเร็จรําปที่แข็งกระด้าง กำลังจะแปรเปลี่ยนโลก และยึดครองชีวิตของมนุษยโลกไป..อย่างแข็งกระด้างและว่างเปล่า..

อาจไม่มีความรัก..ความชื่นชม หรือ ความประทับใจต่อสมบัติอันเป็นธรรมชาติอีกแล้ว...โลกกำลังสูญสลาย “ดวงตาคู่งามในหัวใจอันบริสุทธิ์” ไป..อย่างไม่มีวันกลับ..

..ร่วมทศวรรษ..ที่หนังสือเเปลเล่มนี้เป็นประหนึ่งของขวัญแห่งชีวิต ที่เป็นเครื่องเตือนใจอันถาวร..และ ถ้าเรายังพอมีความรู้สึกในการตระหนักถึงรากเหง้าของตัวตน “ตาผมเป็นต้นเชอร์รี่”..ย่อมคือของขวัญอันรื่นรมย์และเบิกบานสำหรับเทศกาล..อันเป็นความหมายยิ่งใหญ่..ของเราและเรา..ตลอดไป..!

“นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ” ถอดความ..นวนิยายเล่มนี้ออกมาอย่างมีชีวิตชีวา..มันคือความงามในความหมาย เเละ เป็นความหมายแห่งความงามระคนกัน..

...หากชีวิตได้มีโอกาสผ่อนพักบ้าง..การอ่านหนังสือที่ถือเป็นลายฉลุแห่งชีวิตอันเพรียวบาง ..แต่อบอุ่นในหัวใจแห่งหัวใจสักเล่ม..จักคือของขวัญที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้.ในความรัก.ด้วยน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์..โดยแท้...!

“คนที่เรารักจะไม่มีวันตาย..ตราบใดที่ใครคนหนึ่งยังรักเรา..!”