“ชูศักดิ์”เผย “นายกฯอิ๊งค์” มอบหมายให้ทำหนังสือชี้แจง “กตต.”กรณี”ทักษิณ”ครอบงำพรรค ย้ำไม่ต้องไปด้วยตัวเอง เล็งเช็กบิลนักร้องกราวรูด 'ทวี'ระบุจนท.ราชทัณฑ์ไม่หวั่นไหวข้อร้องเรียนเอื้อ 'ทักษิณ'ป่วยทิพย์ชั้น14 เผยยังไม่ตั้งกรรมการสอบต้องรอ “ปปช.”ชี้มูลก่อน ด้าน'พิชิต’จี้ “รมว.ยธ.”ไขก๊อกรับผิดชอบปมป่วยทิพย์ชั้น14 ขณะที่”เด็จพี่”จวกกลุ่ม”กปปส.”ปลุกมวลชนกดดัน”ปปช.” ระวังกรรมตามทัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมส.ส. -สว. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์จำเป็นต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่า ไม่ต้อง ให้เป็นไปตามกระบวนการสภา เพราะบางที ส.ส.พรรคเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรการบริหารงานเราร่วมมือกันอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ในกฎหมายสำคัญเช่นนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีหลายความคิดเห็น แต่สุดท้ายก็ต้องคุยกันให้เข้าใจตรงกัน แต่ถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่อะไร เมื่อถามว่า ผลการลงมติที่ออกมาอาจทำให้การทำประชามติถูกเลื่อนออกไป รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คิดว่าประชามติน่าจะทัน แต่ขอคุยกับทางคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ก่อนว่าจะว่าอย่างไร เมื่อถามย้ำว่า ต้องปรับจูนการทำงานกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆไม่ใช่แค่พรรคภูมิใจไทย แต่กับทุกคนเราก็ปรับไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน หรือคนในพรรคด้วยกันเอง
เมื่อถามว่า หมายความว่าหากมีกฎหมายอะไรที่สำคัญนอกเหนือจากนโยบายหลักของรัฐบาลจำเป็นต้องคุยกันก่อน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า บางทีมีเวลาก็ได้คุยกัน แต่บางครั้งทุกอย่างมันเร็วก็ไม่ได้คุยกัน แต่ให้สภาเป็นคนจัดการ เมื่อถามย้ำว่า ตัวนายกฯ จะคุยเองหรือให้วิปรัฐบาลเป็นผู้ประสาน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จุดแรกต้องให้วิปรัฐบาลสรุปก่อน
ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งหนังสือเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ไปชี้แจงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรค ว่า เรื่องนี้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชี้แจงด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมาก็ทำเช่นนี้มาตลอด โดยนายกฯได้มอบหมายให้ตนไปชี้แจง โดยตนต้องไปยกร่างคำชี้แจงแค่นั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ครั้งนี้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทนใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า แน่นอน และเมื่อมอบหมายแล้ว สุดท้ายตนคงไม่ต้องไป ทำหนังสือชี้แจงไปก็ได้ และทำแบบนี้มาตลอด เมื่อถามว่า หากนายกฯเดินทางไปด้วยตนเอง ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะดีกว่าหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ดีกว่าหรือไม่ดีกว่า ประเด็นอยู่ที่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่กรณีเช่นนี้จะมอบหมายตนเองและทำคำชี้แจงไปว่า ความจริงเป็นนี้ที่ไม่ใช่การครอบงำ พร้อมกับนำพยานหลักฐานแนบไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นรายละเอียดหนังสือจากกกต.แล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เห็นแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องเก่าทั้งนั้น ท้ายที่สุดกกต.ก็ใช้วิธีรวบรวมมา มี 4-5 เรื่อง ซึ่งจะตอบชี้แจงไปทีเดียว เมื่อถามว่า คำร้องต่างๆ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปก่อนหน้านี้ เคยระบุว่าจะมีการฟ้องร้องกลับบรรดานักร้อง ขณะนี้ดำเนินการคืบหน้าอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ เดี๋ยวก็คงได้ยินข่าว พร้อมกับหัวเราะ เมื่อถามอีกว่า อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานใช่หรือไม่ หลังนายทักษิณออกมาพูดในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยว่าจะมีการไล่เช็กบิล พวกนักร้อง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ เป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เมื่อถามย้ำว่า หลังปีใหม่จะเริ่มเช็กบิลเลยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวคงได้ได้ยินข่าว ส่วนจะกี่คนยังตอบไม่ได้ ถึงเวลานั้นก็รู้เอง พร้อมกับหัวเราะอีกครั้ง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ตั้งองค์คณะไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจรวม 12 ราย กรณีส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ โดยไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำนั้น ว่า ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทาง ป.ป.ช. มีข้อมูลก็จะต้องรับไว้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ถูกระบุว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนของต้นสังกัดขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพราะตามขั้นตอนแล้วหาก ป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูลถือว่ายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเพราะที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานที่มีการตรวจสอบ เช่น สตง.หรือองค์กรอิสระ ที่มีการตรวจสอบและไม่พบว่าไม่มีความผิด แต่หากคณะกรรมการชุดใหญ่ของ ป.ป.ช. ชี้มูลก็จะเข้าเกณฑ์ตามระเบียบที่จะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
“จากการสอบถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่หวั่นไหวหรือกังวลกับการที่ ป.ป.ช.รับไว้พิจารณา เพราะเจ้าหน้าที่ก็ทำตามข้อกฎหมายมาตรฐานวิชาชีพกับผู้ต้องขังทุกรายตามระเบียบทั้งหมด ไม่ได้ดุลยพินิจเกินกว่าเหตุแต่อย่างใด” รมว.ยุติธรรม กล่าว
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายแก้วสรร อติโพธิ, นายจตุพร พรหมพันธ์ อดีตแกนนำนปช. พร้อมเครือข่ายอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และกปปส. จำนวนหนึ่ง เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือให้เร่งรัดพิจารณาข้อกล่าวหา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ,พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ,นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีส่งตัวผู้ต้องขัง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยมิชอบ ว่า ตนมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้กดดันกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และน่าจะมีประโยชน์ซ่อนเร้น หวังผลทางการเมืองโดยไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนเลย กระบวนการความยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าป.ป.ช. ศาล อัยการหรือตำรวจไม่ควรมีการกดดัน ปล่อยให้เขาไต่สวนไปตามหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่ แต่ละท่านก็เป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ ทำตามกรอบอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด มีระเบียบและข้อบังคับในการไต่สวน
การนำมวลชนไปกดดันจะทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานขาดความเป็นอิสระ การใช้มวลชนไปยื่นหนังสือ มีการปราศรัยของแกนนำเหมือนน่าจะดูถูกดูหมิ่นดูแคลนเจ้าหน้าที่ ว่าเขาจะปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยเที่ยงธรรมหรือไม่ ตนอยากจะสอนมวยแกนนำที่อารมณ์ค้าง อารมณ์แค้นทางการเมือง ที่มีวาระซ่อนเร้นทั้งหลายว่าควรไปอ่านรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ถูกกล่าวหาถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกป.ป.ช.สอบอยู่ขณะนี้ก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การที่แกนนำบางคนที่นำคนไปกดดันองค์กรอิสระ บางคดียังคาศาลอยู่หลายคดี เดี๋ยวจะมีคนไปกดดันก็จะมีปัญหาเหมือนกัน คุณจะคิดยังไง อกเขาอกเรา ระวังเวรกรรมจะตามทัน ปล่อยให้กระบวน ยุติธรรมทางอาญาทำงานไปตามปกติเถอะ อย่าหวังผลทางการเมือง โดยใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างอดีตนายกฯทักษิณ แบบเล่นไม่เลิก เพื่อให้มีผลกระทบกับรัฐบาลนายกฯแพทองธาร เห็นแล้วสมเพช เหมือนฝนตกขี้หมูไหล คนอะไรมารวมกัน ไร้สาระสิ้นดี คนพวกนี้น่าจะเป็นพวกหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งคงตกงาน ขาดความสำคัญ ขาดตำแหน่งหน้าที่
"บางคนอาชีพก็ไม่มี แต่กลับมีฐานะร่ำรวย ซึ่งสวนทางกัน การเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วอ้างประชาชน อ้างประโยชน์สาธารณะ แต่พวกที่อ้างกลับมีฐานะดี ตนอยากให้ประชาชนตาสว่าง อย่าไปหลงเชื่อ อย่าให้การสนับสนุน อย่าให้ราคากับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ใกล้จะปีใหม่แล้ว ประชาชนอยากจะได้เห็นได้ฟังเรื่องดีๆ บรรยากาศดีๆ ในบ้านเมือง เขาไม่อยากเห็นคนที่จะมาก่อความวุ่นวายให้เกิดความเสียหาย ให้เสียบรรยากาศในการฉลองปีใหม่ เลิกได้เลิกเถอะ มุกเดิมๆ มันเก่า ชาวบ้านตาสว่างแล้ว" นายพร้อมพงศ์ กล่าว
วันเดียวกัน นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รมต.ยุติธรรมที่อยุติธรรม คุณทวี สอดส่อง รมต.ยุติธรรม ถึงแม้จะยังไม่มีรายชื่อถูกไต่สวนจาก ป.ป.ช.แต่ในฐานะ รมต.ที่กำกับดูแล จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ การทำลายกระบวนการยุติธรรมเกิดในยุคที่ ทวี สอดส่อง นั่งเก้าอี้ รมต.ยุติธรรม แต่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ถูกกล่าวโทษตั้งแต่ อธิบดีมาจน ผบ.เรือนจำ รมต.ยุติธรรม ยิ่งอธิบายยิ่งพันตัวเอง ในทางคดีกับ ป.ป.ช.วันนี้ในห้องประชุม เราก็ชี้ให้ ท่าน เลขาฯ ป.ป.ช. ทราบข้อเท็จจริงทางการแพทย์ไปหลายประเด็น ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ชี้ มีประเด็นที่ท่านต้องรับผิดชอบโดยตรง ในทางการเมือง ผมว่าท่าน รมต.ยุติธรรม ลาออกเถอะครับ รับผิดชอบความเหลวแหลกที่เกิดขึ้น ในทางคดี ป.ป.ช.ก็จะชี้มูลท่านต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีสื่อมวลชน เปิดเผยหนังสือของแพทยสภา โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภาในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ที่ตั้งโดยมติที่ประชุมแพทยสภา ได้ทำหนังสือของแพทยสภา ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ถึงนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 3 หน้ากระดาษ มีใจความโดยสรุป ภายหลังมีผู้ร้องเรียนแพทยสภา ให้สอบสวนการรักษาพยาบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พักรักษาตัวที่รพ.ตำรวจชั้น 14 เป็นเวลา 6 เดือน จนถึงกำหนดการพักโทษนั้น ซึ่งเห็นว่ามีมูล จึงขอข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนสอบสวน อันเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ จึงขอให้ท่าน(แพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งพยานหลักฐานหรือวัตถุพยานเพื่อประโยชน์การแก่การพิจารณาจริยธรรมนั้น
ล่าสุด พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนคงไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดในการสอบสวน เพราะเป็นชุดของศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธาน และการดำเนินการเป็นขั้นตอนลับ อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนปกติในกรณีมีผู้กล่าวโทษหรือยื่นคำร้องต่อแพทยสภา จะมีการดำเนินการหาข้อมูลและตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมขึ้นมา เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานว่ามีมูลหรือไม่ โดยมีกรอบระยะเวลาชัดเจน และนำผลเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภา เพื่อพิจารณาว่า มีมูลหรือไม่มีมูล หากไม่มีมูลก็ยกฟ้อง แต่หากมีมูลก็จะตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งก็คือชุดของ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร เป็นประธาน
หลังจากนั้นก็จะดำเนินการเป็นการลับ เพราะต้องเร็ว ยุติธรรม และที่ต้องเป็นการลับเพื่อให้ไม่มีผลต่อใครมากระทบกระเทือนเรื่องการสอบสวน พิจารณาได้ ซึ่งกรรมการแพทยสภาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่ทราบเช่นกัน โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกระบวนการตามข้อบังคับของแพทยสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อมูลจากทางแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ จะเป็นอย่างไร พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ก็ต้องทำตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยเมื่อคำร้องมีมูลมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ตามพ.ร.บ.วิชาชีพฯ พ.ศ.2525 มาตรา 36-38 และข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ พ.ศ.2563 ข้อ 27-39 พิจารณาภายใน 180 วัน ขยายได้ 120 วัน และขยายได้อีกตามที่กรรมการเห็นสมควรพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องประพฤติผิดจริยธรรมหรือไม่ อย่างไร จากนั้นเสนอคณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า เพียงพอหรือไม่ หากเพียงพอก็จะพิจารณาว่าประพฤติผิดหรือไม่ หากผิดต้องพิจารณาว่าผิดหมวดใด และพิจารณาโทษต่อไป
เมื่อถามว่า การสอบสวนครั้งนี้หากมีแพทย์เกี่ยวข้องจะมีโทษอย่างไร เพราะถือว่ามีมูลแล้ว พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ต้องไปดูผลของการสอบสวนก่อนว่าเกี่ยวข้องกับแพทย์หรือไม่ คนไหนอย่างไร โทษก็จะขึ้นอยู่ว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงมากน้อยเพียงใด ตั้งใจ จงใจ เจตนาหรือไม่ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้ต้องไปดูว่า ต้นเหตุมีแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือแพทย์ไม่เกี่ยวข้องเลย ตรงนี้มีรายละเอียดมาก ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าหมอผิด จนกว่าจะพิสูจน์พยานหลักฐานก่อน แต่หากผิดจริยธรรม ก็ต้องไปดูว่ามากน้อยแค่ไหน โทษก็จะเป็นไปตามความผิดที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่แพทยสภารับเรื่องมาจากคำร้องของ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปยื่นคำร้องให้แพทยสภา ใช่หรือไม่ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ไม่สามารถตอบเช่นนั้นได้ เพราะมาจากหลายทาง เป็นการรวมคดีจากผู้ร้องทั้งหมด