ราชบุรี พบกระโถนพระฤาษี พันธุ์พืชหายากที่ไทยประจัน

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี สำรวจพบ “ กระโถนพระฤาษี ” พรรณพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มอนุรักษ์นกเงือกและนักท่องเที่ยวที่รู้จักชุมชนบ้านบางกะม่า  อ.บ้านคา  จ.ราชบุรี ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความสวยงามด้วยทัศนียภาพอันงดงาม อากาศบริสุทธิ์เย็นสบายตลอดทั้งปี  เหมาะกับการแคมป์ปิ้ง  เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่มากไปกว่านั้นหมู่บ้านบางกะม่า  ยังล้อมรอบไปด้วยผืนป่าที่สำคัญในการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าแก่งกระจาน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีชนิดพันธุ์พืชและชนิดพันธุ์สัตว์ที่หายากหรือตกอยู่ในสภาวะอันตราย  แต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะนกเงือกบางกะม่า  ซึ่งเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักดูนกและผู้คนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์นกเงือก เนื่องจากเป็นผืนป่าที่นกเงือกจำนวนหลายร้อยตัวมารวมฝูงกันเพื่อจับคู่และทำรังวางไข่ตามฤดูกาล 

นายภูวิวัช หิรัญศรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน   นายจิรายุ เปี่ยมรอด ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ จัดกิจกรรมร่วมกับ มูลนิธิป่าไร้พรมแดน กลุ่มรักษ์นกเงือกบางกะม่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ. 3 ( พุยาง ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตัวแทนตลาดน่าเอ้  ผู้นำชุมชนบ้านโป่งกระทิงบน  เพื่อสำรวจเส้นทางเดินป่าแห่งใหม่ ( ผานิทัยรงค์ ) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างไปไม่ไกลจากจุดชมวิวผานกเงือกเดิมมากนัก ( จุดชมนกเงือกผารากกึ้ง )

การสำรวจเส้นทางเดินป่าจุดชมวิวนกเงือกผานิทัยรงค์แห่งใหม่นี้  เกิดจากงานเสวนาสภากาแฟหัวข้อ “ การพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน กิจกรรมการเดินป่าผานกเงือกชุมชนบ้านบางกะม่า ” ภายใต้โครงการสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนบ้านโป่งกระทิงบน – บางกะม่า ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าร่วมกับอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันได้อย่างสมดุลและยั่งยืนของมูลนิธิป่าไร้พรมแดน  จึงได้เกิดกิจกรรม Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน โดยดึงจากศักยภาพของฐานทรัพยากรชุมชน (Community Base) ที่มีอยู่ในชุมชนบ้านบางกะม่า ซึ่งได้นำประเด็นจากการ Workshop มาจัดทำข้อมูลร่วมกันดังนี้ 1.การจัดทำข้อมูลชุมชนบ้านบางกะม่า 2.การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 3.การทำงานของกลุ่มอนุรักษ์นกเงือก เป็นต้น โดยรวบรวมข้อมูลนิเวศวิทยานกเงือก ปฏิทินวงจรการใช้ชีวิตของนกเงือก พื้นที่หากิน พืชอาหาร บริเวณที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก  ปฏิทินกิจกรรมชุมชน เพื่อนำมาวางแผนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป

เส้นทางเดินป่าผานิทัยรงค์ที่ทำการสำรวจใหม่แห่งนี้อยู่บนภูเขาลูกเดียวกันกับจุดชมวิวผานกเงือกรากกึ้งเดิม แต่อยู่กันละยอดเขา เป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณรอยต่อของป่าที่เรียกว่า  (Eco – tone) คือรอยต่อของระบบนิเวศที่แตกต่างกันระหว่างป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) และป่าเบญจพรรณ (mixed deciduous forest) ที่ความสูงประมาณ 700 – 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากการสำรวจเส้นทางพบต้นไม้ซึ่งเป็นพืชอาหารที่นกเงือกมาใช้ประโยชน์ เช่น มะเกิ้ม ไทร ตาเสือ กระทังผลก่อ หว้า กรวยแหลม เป็นต้น  ระหว่างเส้นทางยังสำรวจพบโพรงรังนกเงือก ซึ่งมีขนาดโพรงและความสูงจากพื้นดินที่แตกต่างกันไปตามชนิดต้นไม้ที่พบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในหุบเขาของป่าดิบแล้ง ขนาดโพรงรังส่งผลต่อขนาดตัวของชนิดนกเงือกที่มาใช้อยู่อาศัย เช่น นกกกและนกเงือกกรามช้างซึ่งมีขนาดตัวใกล้เคียงกันจะใช้โพรงรังขนาดใหญ่ด้วยกันได้ แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาลและนกแก๊กซึ่งจะต้องหาโพรงรังที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นกเงือกบางกะม่าสามารถทำการซ่อมแซมโพรงรังได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์นกเงือกที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของชุมชนบางกะม่า 

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าบางกะม่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าแก่งกระจานมีการลาดตระเวนที่เข้มแข็งด้วยระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เมื่อผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีจึงทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีชนิดพันธุ์ต้นไม้ในป่าดิบแล้งที่เอื้ออำนวยให้นกเงือก 4 ชนิด ได้แก่ นกกก นกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาลได้อยู่อาศัยและหากินได้อย่างปลอดภัย เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งระหว่างเส้นทางที่คณะสำรวจได้ทำการสำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกซึ่งเป็นป่าดิบแล้งนั้น ได้พบกับ “ กระโถนพระฤาษี ” พืชหายากชนิดใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญของประเทศไทย 

นายภูวิวัช หิรัญศรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน   กล่าวว่า   “ กระโถนพระฤาษี ” จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Rafflesiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sapria himalayana Griff. สถานภาพของ IUCN อยู่ในเกณฑ์ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) ลักษณะเป็นพืชกาฝากที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากรากของเถาวัลย์น้ำ เช่น ส้มกุ้ง หรือ เครือเขาน้ำ ไม่มีใบ ไม่มีลำต้น  มีดอกสีแดงประแต้มสีเหลืองใหญ่ขนาดประมาณ 10 ซม. โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน การกระจายพันธุ์ : เขตอินโด - มาลายา ในประเทศไทยพบได้ตามเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงาและสุราษฎร์ธานี และยังมีรายงานการพบที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรีอีกด้วย จากข้อมูลการศึกษาค้นคว้าพบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม จะเป็นช่วงที่ดอกบานมากที่สุด โดยมีแมลงวันเป็นตัวกระจายเกสร โดยหลังจากดอกบานแล้วจะค่อยๆแห้งตายและส่งกลิ่นเหม็นเน่าคล้ายซากศพทำให้ดึงดูดแมลงวันและแมลงชนิดต่างๆมาตอมซึ่งจะช่วยในการผสมเกสรและยังพบสัตว์ฟันแทะ (Rodent) จำพวกหนูช่วยในการกระจายเมล็ด เนื่องจากพบขนาดรอยฟันแทะจำพวกหนูบนชิ้นส่วนของซากดอก จะเห็นว่าการพบพืชหายากที่ใกล้สูญพันธุ์บริเวณที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกนั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าดิบแล้งของชุมชนบ้านบางกะม่าซึ่งเป็นฐานทรัพยากรของชุมชนที่มีค่า มีการอนุรักษ์นกเงือกที่ช่วยกันดูแลรักษาให้คงอยู่ร่วมกันกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่ให้แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีพืชชนิดพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์ “กระโถนพระฤาษี” ไว้ว่า บริเวณที่พบพืชชนิดนี้สมควรได้รับการป้องกัน ควรมีกฎหมายห้ามเก็บและค้า นอกจากนี้ยังสมควรที่จะช่วยกันกระจายเกสรและเมล็ดไปยังแหล่งอาศัยในพื้นที่สภาพธรรมชาติ เนื่องจากพืชชนิดนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาเพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นพืชที่มีนิเวศวิทยาที่ซับซ้อน

การสำรวจพบ “ กระโถนพระฤาษี ”  หรือการมีอยู่ของนกเงือกชนิดต่าง ๆ ต้องอาศัยป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า “ ชุมชนบางกะม่า ”  จึงเป็นตัวอย่างของการทำงานด้านการอนุรักษ์ให้กับหลาย ๆ พื้นที่ระหว่างชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมต่อไป