Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมาที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.18-34.62 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ตามคาด ทว่า เฟดได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ลง จากเดิมที่เฟดเคยประเมินไว้ว่าอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง (-100bps) เหลือเพียง 2 ครั้ง (-50bps) ใกล้เคียงกับที่ตลาดได้คาดหวังก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง press conference ได้ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ หากคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงหนักกว่า -2.3% ของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
บรรยกาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้พอสมควร ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Tesla -8.3%, Amazon -4.6%, Microsoft -3.8% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -3.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.95%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.15% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +2.0% และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินที่เผชิญแรงขายหนักในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งจะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการไปแล้ว
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าเฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดประเมินไว้ ทว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีหน้า กอปรกับถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง press conference ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ล่าสุด หากคำนึงถึงผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อย่างไรก็ดี แม้ว่า คาดการณ์ของเราต่อ Dot Plot ใหม่จะผิดไป แต่เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (ที่ดูจะเป็นการ Overreact ไปบ้างในมุมมองของเรา) ยังคงทำให้ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถดำเนินกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเราได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย เหลือเพียง 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งแนวโน้มการชะลอลดดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟด ที่ดูจะสวนทางกับบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง BOE และ ECB ก็กดดันให้ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ต่างอ่อนค่าลงหนัก เช่นเดียวกันกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.1 จุด) ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ดิ่งลงหนักกว่า -2.3% สู่โซน 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการเร่งขายทำกำไรของบรรดาผู้เล่นในตลาดเพื่อ Lock Profits ในฝั่งสถานะ Long ที่ได้มาในปีนี้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของสองธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะเริ่มจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย (Press Conference ในช่วงราว 13.30 น.) โดยเราคาดว่า BOJ อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่า BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ถัดมาในช่วงราว 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยแม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.75% หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเริ่มชะลอตัวลงช้า ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้ BOE อาจยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออังกฤษอยู่บ้าง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการส่งสัญญาณของ BOE ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีหน้า
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรอติดตามรายงานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ Philadelphia Fed
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงมากกว่าโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้พอสมควร หลัง Dot Plot ใหม่ของเฟด สะท้อนการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ที่น้อยกว่าที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ เงินบาทยังทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทำให้เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เราต้องยอมรับว่า เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสจบสิ้นปีนี้ ในระดับที่อ่อนค่ากว่าที่เราประเมินไว้ (33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้พอสมควร
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงเคลื่อนไหวลักษณะ Two-Way (อ่อนค่าลงต่อ หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง) ซึ่งจะขึ้นกับผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักที่เหลือในวันนี้ ทั้ง BOJ และ BOE โดยในกรณีที่ BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish Hold) ก็อาจช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทลง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หรือในกรณีที่ BOJ เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (โอกาสน้อยมาก) ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง กดดันเงินดอลลาร์ได้พอสมควร ในทางกลับกัน หาก BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด แต่กลับไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่นเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อทดสอบ โซน 156 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ส่วนผลการประชุม BOE นั้น เรามองว่า ต้องระวังกรณีที่ BOE แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณว่าอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว 2 ครั้ง ซึ่งในภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้ หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ และ BOE)
#บาทอ่อน #ข่าววันนี้ #เงินตรา #กรุงไทย #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์