วันที่ 19 ธ.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการแบ่งส่วนราชการภายในหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่129) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่4695/2567 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น จำนวน 1 ราย ได้แก่ น.ส.จรัสศรี รัตตะมาน รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นรองผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร 

 

ขณะเดียวกัน นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4696/2567 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ให้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 18 ราย ดังนี้ 1.นางสำอาง พจนามธุรส หัวหน้าฝ่ายการคลัง 2.นายเปรมชัย จงเจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ดิจิทัล 3.นายมงคล แซ่เตียว หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ดิจิทัล 4.นายประภาพรรณ ตันติจันทโสภณ หัวหน้ากลุ่มงานมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 5.นายณัฐชานันท์ วิบูลเตโชกิตติ์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ กลุ่มงานมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 

 

6.นายมนตรี ส่งวุฒิวงศากร ผู้อำนวยกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 7.น.ส.จิราพร รัตนวิจิตร หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป 8.ว่าที่ร้อยเอกไพบูลย์ ฉัตรทอง หัวหน้ากลุ่มงานแพลตฟอร์มดิจิทัล 9.นายธนวัฒน์ จิระพันธ์พงศ์​หัวหน้ากลุ่มงานระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 10. นายวัชรพงษ์ แต้มทอง หัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 

11.นายอวยไชย พันละม้าย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบสารนิเทศดิจิทัล 12.นายกิตติพงษ์ ตระกูลน่าเลื่อมใส หัวหน้ากลุ่มงานบริหารจัดการระบบดิจิทัล 13.น.ส.พัชรี ตั้งเจริญพานิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเครื่องลูกข่าย 14.สิบเอกหญิงนวรัตน์ จันทร์โกมล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาทักษะดิจิทัล 15.นางนภาวรรณ ลิ่วกีรติยุตกุล ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาระบบดิจิทัล 16.ว่าที่ร้อยตรีอรรณพ สัมพันธวรบุตร หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบดิจิทัลส่วนกลาง 17.นายสารสิน อิ่มโอษฐ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบดิจิทัลเฉพาะด้าน และ 18.ว่าที่ร้อยตรีอัครเดช สืบเทศหัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรมข้อมูลเมือง 

 

ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งสำนักดิจิทัลว่า เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีระบบนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” กทม.จึงได้ปรับเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานภายในและการให้บริการประชาชน เช่น การนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2566-2570) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศให้สนับสนุนแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนและนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับประเทศ 

 

ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารกทม.ได้จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งรวมอยู่ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี เป็นแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2561 – 2565 และในช่วงปลายปี 2565 ได้มีการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มขึ้นมาหลายรายการ ต่อมา แผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอลในช่วงปี 2566 – 2577 ได้มีการพัฒนาให้เป็น Smart BMA และ Smart city ในกรณีนี้ ได้มุ่งเน้นในเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของกรุงเทพมหานคร ผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ฐานข้อมูล และInfrastructure ได้

 

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงานก.ก.) ได้ปรับโครงสร้างให้เกิดเป็นสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร โดยแยกอย่างชัดเจนกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (สยป.) เพื่อดูแลยุทธศาสตร์ทางด้านดิจิตอลทั้งหมด รวมทั้งเชื่อมต่อระบบความปลอดภัยทั้งหมด โดยสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร (สดท.) จะมีส่วนราชการ 4 ส่วน ดังนี้ 1.สำนักงานเลขานุการ 2.กองยุทธศาสตร์ดิจิทัล 3.กองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิตอล และ 4. สำนักงานพัฒนาระบบสารสนเทศดิจิทัล

 

โดยสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่พัฒนาให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ทำให้สามารถใช้ร่วมกันหรือเชื่อมโยงกันได้หรือวิธีอื่นใดที่เป็นการประหยัดทรัพยากรและเกิดความสะดวกต่อผู้เกี่ยวข้องและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนางานตามภารกิจของกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการให้บริการหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับประยุกต์ใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกัน ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังพลให้เกิดความพร้อมและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาครั้งข้อมูลและฐานข้อมูลดิจิทัล ตลอดจนจัดทำร่างนโยบายและแผนว่าด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร