ก้าวเข้าสู่การเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์จากท้องถิ่น สำหรับงาน“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024)  ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  เพื่อเป็นเวทีสำคัญให้นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ศิลปิน และช่างฝีมือท้องถิ่น ได้มีพื้นที่ ‘ปล่อยของ’ นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาทักษะและนวัตกรรมสร้างสรรค์ในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักลงทุน ให้ได้ทำงานร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนทักษะและการสร้างโอกาสการเชื่อมต่อเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน

 “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่” หรือ “Chiang Mai Design Week”  ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่แต่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสร้างพลวัตที่หลากหลายในการผลักดันให้ ‘เชียงใหม่’ ก้าวสู่การเป็น City Branding ในฐานะเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) และศูนย์กลางการออกแบบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะท้อนถึงพลังของการออกแบบที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนคืนถิ่น (homecoming) กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยตลอดทั้ง 10 ปี เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นไปแล้วบ้าง

 1. “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่” จากจุดเริ่มต้นสู่ ‘เวทีนานาชาติ’

เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เริ่มต้นในปี 2014 ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหน่วยงานท้องถิ่น มุ่งเน้นการแสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ผ่านการผสานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดร่วมสมัย ต่อมาในช่วงปี 2015-2016 เทศกาลฯ ได้ขยายขอบเขตด้วยการริเริ่มตลาดสร้างสรรค์ (Creative Market) ควบคู่กับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและเวิร์กช็อป เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างนักออกแบบและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ ที่เทศกาลพยายามจะให้เกิดการสร้างเครือข่ายของความคิดสร้างสรรค์ที่จับต้องได้และต้องขายได้  

ต่อมาในช่วงปี 2017-2019 เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ได้ พัฒนาสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ อย่างเต็มรูปแบบ โดยดึงดูดนักออกแบบและผู้สนใจจากทั่วประเทศและภูมิภาคเอเชีย มีการจัดแสดงนิทรรศการจากนักออกแบบชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับงานออกแบบสร้างสรรค์ ทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างช่างฝีมือท้องถิ่นและนักออกแบบร่วมสมัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสานภูมิปัญญาเข้ากับแนวคิดการออกแบบสมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่

จนกระทั่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 (ปี 2020-2021) เทศกาลปรับตัวสู่การส่งเสริมแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน เน้นการออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และริเริ่มโครงการ HomeComing Creator ที่พานักออกแบบและนักสร้างสรรค์คืนถิ่น กลับมาบ้านเกิดเพื่อสนับสนุนนักสร้างสรรค์จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้หลากหลายสาขา เช่น นิทรรศการ “En.Light.En”ภายใต้คอนเซ็ปต์ HomeComing โครงการที่รวบรวมนักออกแบบและศิลปินที่มีความผูกพันกับจังหวัดเชียงใหม่หรือพื้นที่ภาคเหนือ ให้กลับมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ย่านช้างม่อย และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา, เทศกาลดนตรีและศิลปะการแสดงข้างถนนนานาชาติ ณ ชุมชนล่ามช้าง ซึ่งเป็นการยกระดับพื้นที่ชุมชน ให้กลายเป็นศูนย์รวมของการแสดงดนตรีและศิลปะการแสดงข้างถนน และเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวทางดนตรี (Music Tourism) ของเชียงใหม่, เทศกาลกาแฟถิ่นไทย สำหรับกลุ่มคนรักกาแฟที่ส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟ, และ LABBfest งานแสดงดนตรีสดที่ผสมผสานระหว่าง Music Showcase กับ Visual Art เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางด้านดนตรีในระดับนานาชาติ เป็นต้น

และตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนงานเทศกาลให้สอดคล้องกับการที่เชียงใหม่ได้รับการยกย่องเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้านขององค์การยูเนสโก          (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) มากยึ่งขึ้น โดยมีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือกับ   นักสร้างสรรค์นานาชาติ และองค์กรระดับนานาชาติ เช่น กิจกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัสเซีย ได้แก่       แซนด์บ็อกซ์จากมอสโก : วันภาพยนตร์และแอนิเมชัน กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็กโดยใช้สื่อภาพยนตร์และแอนิเมชันเจาะลึกลงไปในจินตนาการเพื่อสร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, การบรรยายและมาสเตอร์คลาสจากหนึ่งในผู้นําของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นรัสเซีย, และการจัดเทศกาลและคอนเสิร์ตในโลกเมตาเวิร์ส: ระหว่างโรคระบาดและหลังโรคระบาด ซึ่งเป็นการบรรยายจากศิลปิน VR (Virtual Reality) ชาวรัสเซีย รวมไปถึงผู้อำนวยการ โปรดิวเซอร์หลากหลายสาขาและผู้ดูแลเทศกาล เป็นต้น

 ขณะเดียวกันเทศกาลยังคงรักษาความเชื่อมโยงกับรากเหง้าท้องถิ่นผ่านการริเริ่มโครงการ Creative Village ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง เช่น กาดกองเก่าล่ามช้าง ตลาดชุมชนที่ได้รวบรวมสินค้า อาหาร เครื่องดื่มและบริการท้องถิ่น โดยคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งขึ้น,หมู่บ้านหัตถกรรมต้นเปา ที่นำเสนอความเป็นหมู่บ้านอัตลักษณ์ชุมชนหัตถกรรม และการเป็นหมู่บ้านงานอาร์ตที่ได้รับความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นและนักสร้างสรรค์จากประเทศรัสเซีย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของเทศกาลที่จับมือกับต่างประเทศแลกเปลี่ยนทักษะและองค์ความรู้พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างสมดุล

2. “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่” กับผลกระทบเชิงบวกในหลากหลายมิติ

 นางสาวอิ่มหทัย กันจินะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม “ตลอดการเดินทางร่วม 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่เมืองเชียงใหม่ โดยเทศกาลได้ปลุกกระแสความตื่นตัวให้กับผู้คนในภูมิภาคเห็นถึงความสำคัญของงานสร้างสรรค์ และการใช้ Creativity and Design เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และเป็นเหมือนหมุดหมายใหม่ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การท่องเที่ยวตามสถานที่ทั่วไป แต่ยังรวมถึงพื้นที่สร้างสรรค์ด้วย โดยปัจจุบันเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เปรียบเสมือน ‘ยานแม่’ ของงานสร้างสรรค์ประจำปี ที่ดึงดูดให้งานและกิจกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดปรับตัวจัดงานในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ภาพรวมของเมืองเชียงใหม่เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และกิจกรรมที่หลากหลาย และนักท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์สัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษไปด้วย”

เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ยังได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศในยุโรปและอเมริกา โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาลฯ กว่า 1,022,869 คน และจากการเก็บข้อมูลในปี 2018 - 2023 เทศกาล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือ รวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยฟื้นชีวิตให้อาคารเก่าทั่วเมืองผ่านการดึงดูดนักลงทุนให้มาพัฒนาพื้นที่ปรับปรุงอาคารเหล่านั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่งผลให้เทศกาลกลายเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้เทศกาลยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเชื่อมโยงศิลปะข้ามศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่นักออกแบบหัตถกรรมกับเชฟรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างโครงการ Homecoming Creator ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2020 ที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์กลับสู่บ้านเกิดในพื้นที่และเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับชุมชนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เทศกาลฯ ยังได้เชิญศิลปินแจ๊สระดับโลกอย่าง อิกอร์ บุตแมน มาร่วมงานใน Chiang Mai Street Jazz Festival มาแบ่งปันความรู้ด้านดนตรีแจ๊สแก่ศิลปินท้องถิ่น ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางดนตรีแจ๊สที่มีชีวิตชีวาที่น่าสนใจคือ ทั้งหมดนี้ดำเนินควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี

นางสาวอิ่มหทัยกล่าวเสริมว่า “เทศกาลฯ ได้ยึดมั่นในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เราเน้นการ ‘ทำให้ดู’ มากกว่าการ ‘สั่งให้ทำ’ โดยตั้งแต่ปีแรกของเทศกาลเราให้ไอเดียนักสร้างสรรค์และสถาปนิก ออกแบบพาวิลเลียนนิทรรศการที่สามารถดัดแปลงใช้ซ้ำได้ต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากผ่านมาเป็นปีที่ 10 พาวิลเลียนทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์จากปีแรกทั้งสิ้น ส่วนป้ายให้ข้อมูลเทศกาลนำกลับมาใช้ซ้ำทุกปี โดยปีนี้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำป้ายมากกว่า 95% มาเป็นฟิวเจอร์บอร์ดและกระดาษลัง แทนการใช้โฟมบอร์ด ที่หลังจบเทศกาลสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ อีกทั้งเรายังใช้สื่อออนไลน์และดิจิทัลแทนการใช้สิ่งพิมพ์ มีการใช้จอ LED โซลาร์เซลล์ และจากปี 2020 ที่แผ่นพับเทศกาลผลิต 30,000 ฉบับและสูจิบัตร 150 เล่ม เราปรับลดจำนวนอย่างต่อเนื่อง และปี 2024 ผลิตเพียง 20,000 ฉบับ ซึ่งลดลงไป 30% และมีการใช้กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการใช้รถรางไฟฟ้า Shuttle Bus ตลอดจนพื้นที่ของการจัดงานยังถูกออกแบบให้สามารถเดินเท้าถึงกันได้ รวมถึงมีจักรยานให้บริการจากบริษัท เอนี่วีล จำกัด ที่ส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้จักรยาน ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการภายในงานเทศกาล เราจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และทางเลือกวัสดุ ส่งเสริมให้ทุกคนใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการปรับตัวเพื่อปูทางสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต”

เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567: ‘SCALING LOCAL’ พลิกโฉมท้องถิ่นสู่สากลด้วยความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน

ในปีนี้ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability - For Reviving Recovery” โดยมุ่งเน้นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชนสู่ผลลัพธ์ระดับโลก โดยยังให้ความสำคัญของพื้นที่ชุมชนที่สามารถโอบรับผู้คนและอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตมากในเชียงใหม่ ทำให้เห็นถึงศักยภาพของสินทรัพย์ที่มีในชุมชน รวมทั้งนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นซึ่งได้รับการพัฒนาในหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการจะ Scaling Local ให้ไปสู่ระดับเวทีนานาชาติได้นอกจากการมี Creativity แล้วยังต้องอาศัยการต่อยอดด้วย Technology และ Sustainability ซึ่งทั้งหมดเป็น 3 เสาหลักในการ ‘สร้างมาตรฐาน’ ของการจัดเทศกาลทั้งในประเทศและในระดับโลก โดยในปีนี้  เทศกาลยังได้ต้อนรับนักสร้างสรรค์จากพื้นที่อื่นทางภาคเหนือ เช่น แพร่ น่าน ลำปาง และสุโขทัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นดอกผลของการจัดกิจกรรมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์จากพื้นที่อื่นได้” นางสาวอิ่มหทัย กล่าวเสริม

สำหรับงาน เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 นำเสนอกิจกรรม 6 รูปแบบกว่า 150 โปรแกรม โดยตัวอย่างไฮไลต์ภายในงาน ได้แก่       

นิทรรศการ Lanna Gastronomy Tourism Economy  เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารล้านนา ด้วยแนวทางยั่งยืนตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การทำอาหาร ไปจนถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชน

นิทรรศการ แก่ ดี มีสุข (Ready Set Old)  พาไปสำรวจความเป็นไปได้ของเมืองเชียงใหม่ กับโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเมืองที่มีไลฟ์สไตล์บลูโซนของผู้สูงอายุ ลำดับที่ 7 ของโลก ที่ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาว ต่อจากโอกินาวา ญี่ปุ่น, ซาร์ดิเนีย อิตาลี, นิโคยา คอสตาริกา, อิคาเรีย กรีซ, โลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ โดยนำเสนอการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างสภาพแวดล้อมแห่งอนาคตสำหรับผู้คนสูงวัย

นิทรรศการ Super Slow ชวนดื่มด่ำกับความงามแห่งความเนิบช้า ผ่านผลงานศิลปะที่แปลกใหม่นำเสนอแนวทางการสร้างสรรค์และการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนและใส่ใจมากขึ้นในโลกอันแสนเร่งรีบ

นิทรรศการ Floral Wonders นำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมดอกไม้ท้องถิ่นผ่านความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ที่ช่วยสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ

LABB.Fest 2024 การแสดงดนตรีสด และ Live Performance ที่ผสมผสานศิลปินไทยและต่างชาติ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผลงานสร้างสรรค์ระหว่างศิลปินและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรีของภาคเหนือ และเหล่าโปรโมเตอร์จากหลากหลายประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย เมียนมา ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ก้าวต่อไปของ “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่”สู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน

 สำหรับเป้าหมายนับจากนี้ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ คือ การผลักดันเทศกาลให้โด่งดังและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับสากล โดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบ, ศิลปิน, ผู้ประกอบการ, และ ภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการรักษามาตรฐานระดับสูงของเทศกาล ควบคู่ไปกับการพัฒนาตามเทรนด์และบริบทของเมือง เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่น่าประทับใจสำหรับผู้เข้าร่วมงานและนักท่องเที่ยว และยังคงความน่าสนใจให้แก่ผู้ลงทุนและผู้สนับสนุนในอนาคต

 “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่กำลังก้าวสู่มาตรฐานใหม่ ที่ไม่ได้เน้นเพียงความสวยงาม แต่ต้องผสมผสาน ความสร้างสรรค์ และ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งพัฒนาองค์ความรู้จากเทศกาล ผ่านนักออกแบบและศิลปินที่เข้าร่วมงาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก CEA เชียงใหม่  นอกจากนี้ในอนาคต การจัดเทศกาล จะลดความสนใจเรื่องจำนวนของผู้ชมลง แต่เน้นการดึงดูดผู้ชมที่สามารถมีส่วนร่วมกับงานอย่างแท้จริง รวมถึงผู้ที่สามารถนำไอเดียในงานไปต่อยอดได้”

“โดยภาพฝันที่เราหวังไว้ คือการทำให้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่โด่งดังและเติบโตไปในแบบที่เมืองสามารถโตตามทันได้ทั้งองคาพยพ ปัจจุบันเทศกาลได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่าย World Design Weekซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพที่โตมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่การก้าวสู่เวทีระดับโลกได้อย่างมั่นคง เราต้องสร้างมาตรฐานของกิจกรรมที่ตอบโจทย์ระดับสากล สร้างความแข็งแกร่งของเครือข่าย และขยายการประชาสัมพันธ์ที่ไปถึงทั่วโลก รวมทั้งการทำให้ผู้คน ‘อิน’ และสัมผัสได้ถึงความสำคัญของงานออกแบบสร้างสรรค์ หากทั้งหมดนี้สำเร็จจะสร้างเอกลักษณ์เหมือนกับ Milan Design Week ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ 100%”

 “SCALING LOCAL” กับ “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) ที่จัดขึ้น ณ ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ‘กลางเวียง (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ - ล่ามช้าง)’ และย่าน ‘ช้างม่อย - ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่) - ท่าแพ’ และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น หางดง, สันกำแพง ฯลฯ คือพลังสร้างสรรค์ของการออกแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้อย่างแท้จริง