“รมว.นฤมล” ประกาศความสำเร็จ มกอช. เจรจา FTA ไทย- ภูฏาน เดินหน้าจัดทำบทมาตรการ SPS ส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ค้าขายระหว่างสองประเทศ ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยระยะยาว     

วันที่ 19 ธ.ค.67 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไทย-ภูฏาน ได้ประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 ที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 2568 ซึ่งการทำ FTA จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย เพราะจะมีการลด/เลิกการเก็บภาษีศุลกากร และมาตรการที่มิใช่ภาษี มีการอำนวยความสะดวกทางการค้า และลดอุปสรรคทางการค้า ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า ทำให้การค้า 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ 

“ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับต้นของภูฏาน และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวภูฏานเป็นอย่างมาก ซึ่ง FTA ไทย-ภูฏาน จะช่วยให้ชาวภูฏานเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษี และเป็นกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในระยะยาว โดยในห้วงปี 2566 การค้าระหว่างไทยและภูฏาน มีมูลค่า 640.23 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 638.03 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 2.20 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 7 เดือน (ม.ค.–ก.ค. 2567) การค้าสองฝ่าย มีมูลค่า 523.51 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 522.63 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.87 ล้านบาท สำหรับสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ข้าวสาลี ผลไม้แห้ง” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว 

ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ทั้งนี้ มกอช. ได้มอบหมายให้นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายและมาตรฐานสินค้าเกษตร (กนม.) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย พร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1 เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Working Group on SPS) เพื่อเจรจาจัดทำบท SPS ภายใต้การเจรจาจัดทำ FTA ไทย- ภูฏาน ครั้งที่ 3 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันในทุกข้อบท พร้อมทั้งเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการว่า ด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาและเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งภูฐานยังคงต้องการความร่วมมือทางวิชาการกับไทยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในด้านการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร

​​​​​​​ ​​​​​​​

เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า บทมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่จัดทำขึ้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่ค้าขายระหว่างสองประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้แห้ง/กระป๋อง น้ำผลไม้ เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสตา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านวิชาการจะนำไปสู่การยะระดับความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและภูฏานที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น