วันที่ 18 ธ.ค. 67 นายนิติพัฒน์  แก้วประสิทธิ์ อาจารย์สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง  จ.ราชบุรี ร่วมกับ นายกริช  ขำเจริญ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.เตาปูน อ.โพธาราม พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเตรียมฟื้นฟูการท่องเที่ยววิถีชนบท บริเวณกลางทุ่งนาแปลงใหญ่  ต.เตาปูน  อ.โพธาราม  ซึ่งอยู่ในช่วงของการฤดูหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว  กำลังมีรถอัดฟางเป็นฟ่อนอยู่กลางทุ่งนาสัมผัสกลิ่นโคลน และกลิ่นฟางข้าวหอมอ่อน ๆ เป็นการย้อนวิถีชีวิตชนบทของชุมชนในพื้นที่  มีการจัดเสวนาเรื่อง “ ทิศทางการพัฒนาและความรับผิดชอบร่วมกันของชาวนาที่มีต่อสังคม  มีการหยิบยกประเด็นการจุดไฟเผาตอซัง ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรที่จะหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน 

โดย มีตัวแทนชาวนาหลายคนได้พูดถึงสาเหตุการเผาตอซัง มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ถ้าไม่เผาตอซัง  ก็จะมีเศษฟางลอยเป็นแพเป็นก้อน ช่วงจ้างคนมาทำเทือกจะทำให้การตีเทือกทำนาลำบาก เวลาหว่านข้าวจะมีเมล็ดข้าวเปลือกลอยอยู่บนฟางข้าวแทนการอยู่บนดิน  ส่วนการจุดไฟเผาจะช่วยเผาเมล็ดหญ้าต่าง ๆ ในทุ่งนาไปด้วย  ช่วยลดศัตรูพืชให้แก่ชาวนา  แต่จะส่งผลเสียทำให้เกิดฝุ่นละอองเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม  ส่วนการแก้ไขปัญหามีแนวทางอยากให้ใช้จุนลินทรีย์มาย่อยสลายฝังกลบตอซัง ช่วยทำให้ลดปัญหาการเผาตอซังลงไปได้  

ด้าน นายกริช ขำเจริญ  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าวว่า ที่นี่เป็นแปลงใหญ่ข้าวตำบลเตาปูนมีสมาชิกจำนวน 39 คน มีพื้นที่รวม 600 ไร่ ได้ทำวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวกล้อง ตำบลเตาปูนเป็นพื้นที่สะอาดและเป็นพื้นที่สีเขียว ปลอดภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม การปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ปลูกข้าว GAP อยู่ด้วย แต่ปัญหาที่พบคือ พอเสร็จจากการทำนาจะมีการเผาตอซัง พยายามแก้ไขโดยหางบประมาณมาซื้อรถมาอัดฟาง ในการไถกลบตอซังไม่ให้เกิดมลภาวะ  แต่ยังมีอีกส่วนที่ยังมีการเผาตอซังอยู่ และจากก๊าซมีเทนจากการทำนาก็ยังมีอยู่ จึงมาคุยกันว่าหลังทำนาแล้วชาวนาจะมีความรับผิดชอบร่วมกับสังคมอย่างไร  ถ้าไม่เผาตอซังจะแก้ไขกันด้วยวิธีไหนดี  ซึ่งถ้าใช้กฎหมายเข้ามาร่วม  ก็ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ความรุนแรง แต่อยากให้มีการเสริมวิธีการแก้ไขปัญหาดีกว่า  เช่น ช่วยเรื่องลดราคาการจ้างการไถ น่าจะมีแนวทางที่ดี เมื่อพื้นที่สะอาดแล้วก็อยากจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ มีคณะอาจารย์มาช่วยเรื่องคิดทำโครงการนี้  สามารถรวบรวมเป็นรูปเล่มนำเสนอภาคการเกษตรฝ่ายวิชาการ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ส่วน นายนิติพัฒน์  แก้วประสิทธิ์ อาจารย์สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  กล่าวว่า ได้ร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษามาทำงาน ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ  เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยได้รับงบจากสำนักงบประมาณ เริ่มทำตั้งแต่ปี  2564  มาอย่างต่อเนื่อง  ช่วงนั้นเป็นโครงการ U2T  และสานงานต่อภายใต้ยุทธศาสตร์มาช่วง 3 - 4 ปี พื้นที่นี้มีศักยภาพเรื่ององค์ความรู้การปลูกข้าว แต่มีปัญหายังขาดการรวบรวมองค์ความรู้ คนรุ่นเก่าเหลือน้อยลงที่จะรวบรวมองค์ความรู้ไว้ได้  จึงได้สร้างประวัติชุมชนขึ้นมาทำกระบวนการร่วมกับชุมชน เพื่อหาทางเผยแพร่ความรู้ นำไปสู่การทำแหล่งเรียนรู้ภายใต้พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น อยู่ในขั้นการรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ของการปลูกข้าวในอดีต โดยให้ชาวบ้านนำเครื่องมือเครื่องใช้มาบริจาคไว้ในพิพิธภัณฑ์ ขณะนี้เริ่มมีชาวบ้านทยอยนำของเก่ามาบริจาคที่ศูนย์เรียนรู้แล้ว และจะมีการจัดทำทะเบียนวัตถุเก็บไว้ อนาคตจะพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเล่าเรื่องชุมชนที่จะนำชมพิพิธภัณฑ์ มีแผนเปิดพิพิธภัณฑ์ช่วงปลายปีหน้านี้ 

โดยกิจกรรมวันนี้ได้เห็นบริบทหลังการเก็บเกี่ยวยังน่าสนใจในแง่ภูมิปัญญาความรู้ การแก้ปัญหาการปรับตัวของเกษตรกร จึงชวนมาพูดคุยเรื่องอนาคตการพัฒนาอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การทำเกษตรแบบชาวนา การพูดคุยเรื่องการลดเผาตอซัง จะมีแนวทางร่วมกันอย่างไรที่จะช่วยกันลดการเผาได้  หรือไม่ให้เกิดการเผาเลย ได้ประเด็นแนวทางที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามในพื้นที่ยังมีเรื่องเล่าของภูเขาลูกโดด ทั้งเขาเขียว เขาชะงุ้ม เขาส้ม  เขาพระ จะมีเรื่องราวเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์กับชุมชน ที่จะให้ความรู้กับคนภายนอกได้  ทัศนียภาพช่วงข้าวออกรวง ยืนต้นสวยงามช่วงปลายปีที่จะเก็บเกี่ยว เป็นช่วงที่อยากให้คนนอกชุมชนได้มาเห็น 

อย่างไรก็ตามในการเสวนายังได้พูดถึงการเตรียมจัดกิจกรรมช่วงปีหน้า  เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน  การเล่นว่าวฤดูหนาวกลางทุ่งนา  ซึ่งเป็นการละเล่นสมัยโบราณ และการจัดคอนเสริ์ต เพื่อส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชนในพื้นที่มีรายได้ต่อไป