วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 15.55 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี (The Challenges of One Health: The Roles of Biosciences and Chemistry) ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ ที่ได้มุ่งเน้นถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมีกับการแก้ปัญหาความท้าทายของ “สุขภาพหนึ่งเดียว" (One Health) ตามแนวคิดหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ ที่ได้รวมแนวทางปฏิบัติทั้งด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม เพื่อให้ทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง
ในการนี้ ได้พระราชทานเหรียญทองเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (The Princess Chulabhorn Gold Medal Award of Appreciation) แก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ครั้งนี้ จำนวน 6 ราย ได้แก่
1. ดร.นอร์เบิร์ท แฟรงค์ (Dr.Norbert Frank) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
2. ดร.เคอร์ติส แฮร์รีส (Dr.Curtis C. Harris) จากสหรัฐอเมริกา
3. ศาสตราจารย์ ลีโอนาร์ด ริตเตอร์ (Professor Leonard Ritter) จากประเทศแคนาดา
4. ศาสตราจารย์ มาร์ติน แวน เดน เบิร์ก (Professor Martin van den Berg ) จากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
5. ดร.ซิน เว่ย แวง (Dr.Xin Wei Wang) จากสหรัฐอเมริกา
6. ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ จากประเทศไทย
รางวัลเหรียญทองเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (The Princess Chulabhorn Gold Medal Award of Appreciation) เป็นรางวัลที่องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พระราชทานพระอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หรือเป็นผู้ที่ทุ่มเทเวลาและความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาเป็นเวลานาน ช่วยให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์บรรลุเป้าหมายในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงาน ทั้งในด้านงานวิจัยและวิชาการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่องเป็นอย่างดีเสมอมา ส่งผลให้สถาบันฯ สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ลุล่วงมาด้วยดี จนบังเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
จากนั้น องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระดำรัสปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ความตอนหนึ่งว่า
“…การประชุมครั้งนี้ได้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความราบรื่น โดยมีการนำเสนอผลงานที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งการอภิปรายในแต่ละหัวข้อการบรรยาย แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยและการประชุมย่อยต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การประชุมครั้งนี้ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และผลงานวิจัย โดยผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ…”
การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn International Science Congress) เป็นหนึ่งในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 4-5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ซึ่งเนื้อหาสำคัญของการจัดประชุมจะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมสอดคล้องกับความก้าวหน้าล่าสุดทางวิทยาการของโลก ดังการจัดประชุมฯ ในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ด้วยพระนโยบายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหา และก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าของงานวิจัยตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ สัตวแพทย์ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยหนึ่งเดียวที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน