ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส และบริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด จัดแถลงข่าวการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 เพื่อยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองในขั้นตอนก่อนถึงโรงพยาบาลเพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วย

โดยการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รุ่น SOMATOM On.site ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ให้ภาพสแกนสมองผู้ป่วยที่มีคุณภาพและความแม่นยำสูง มาตรฐานเดียวกับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล ไปติดตั้งในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับน้ำหนักและแรงกระทำกับตัวรถได้มากขึ้น รวมถึงมีระบบปรึกษาทางไกล(Teleconsultation) เสถียรภาพสูงเชื่อมต่อทีมปฏิบัติการบนรถพยาบาลและทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล นอกจากตั้งเป้าให้บริการแก่ผู้ป่วยในประเทศไทย การพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการจัดการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวถึง 349,126 ราย มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 และพิการถึงร้อยละ 60 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดโอกาสการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ที่การยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี โดยมีระยะเวลาที่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดเพียง 4 ชั่วโมงครึ่ง นับจากเริ่มมีอาการ ทำให้ในปี 2561 ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำโครงการ Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop (MSU-SOS) รถรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) สำหรับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาได้ทันท่วงที

โดยรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ประกอบด้วย รถพยาบาล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) และทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถสแกนศีรษะผู้ป่วยบนรถ ณ จุดนัดหมายที่กำหนด พร้อมเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรที่โรงพยาบาลตัดสินใจด้านการรักษาและให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที รวมถึงสามารถฉีดสารทึบรังสีบนรถในการประเมินหลอดเลือดสมอง ให้การวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นที่แม่นยำ พร้อมให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในลำดับถัดไปทันทีเมื่อถึงโรงพยาบาล ส่งผลให้ลดอัตราความพิการและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้

“จากการเล็งเห็นว่า การวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่จะมีประสิทธิภาพและลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น หากมีระบบการจัดการ Workflow ที่รวดเร็ว เทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging) ที่มีคุณภาพและแม่นยำ รวมถึงยานยนต์ และระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) ที่มีเสถียรภาพ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมมือกับ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แห่งภูมิภาค วิจัยและพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รุ่น MSU-8 โดยเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย ให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง (A life without stroke) อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย”

รศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) ให้มีเสถียรภาพ พร้อมรถพยาบาลที่มีคุณภาพและศักยภาพสูง ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความท้าทายและสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วย ผลการวินิจฉัย และการประเมินการรักษาล่วงหน้าระหว่างทีมปฏิบัติการบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่และทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และรวดเร็วที่สุด

นายคริส พอเรย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า  SOMATOM On.site เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบ 32-slice ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเคลื่อนที่ ให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำและมุ่งเน้นการรักษาอย่างตรงจุด โดยสามารถสแกนศีรษะของผู้ป่วยในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว สร้างภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองได้ทั้งแบบไม่ใช้สารทึบรังสี (Non-contrast) และแบบใช้สารทึบรังสี (Contrast-enhanced) ที่มีความละเอียดสูง นอกจากนี้ยังลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงานหรือ Workflow ด้วย AI ทั้ง User Interface ที่ใช้งานง่าย GO Technology ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้งานเครื่องอย่างมั่นใจและลดความผิดพลาด ฟีเจอร์ Recon&GO ประมวลผลภาพอัตโนมัติ เช่น การสร้างภาพ 3 มิติ การปรับความคมชัด หรือการกำหนดพารามิเตอร์เฉพาะทาง รวมถึงระบบส่งภาพไปยังระบบจัดเก็บภาพของโรงพยาบาล (PACS) แบบอัตโนมัติ ช่วยลดขั้นตอน และทำให้ภาพพร้อมสำหรับการวินิจฉัยทันที