Virtual StudioLab นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตที่พัฒนาโดยนิสิตปริญญาเอกจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลเหรียญทองจากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่เกาหลีใต้ ตอกย้ำความสำเร็จในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้แบบบูรณาการในยุคดิจิทัล

ที่มาของ Virtual StudioLab ปัญหาของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เช่น ขาดพื้นที่และอุปกรณ์ที่เพียงพอ รวมถึงบรรยากาศการเรียนรู้ที่จำกัด ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้คุณกุลชญา พิบูลย์ นิสิตปริญญาเอกจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ (อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ (อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม) พัฒนา Virtual StudioLab แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโลกเสมือนจริงที่มุ่งแก้ไข pain points ของผู้เรียนและครู โดยมีแนวคิดหลักคือ “การทดลองในโลกเสมือนจริงที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของโลกแห่งความเป็นจริง”

Virtual StudioLab ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมใหม่ในแวดวงการศึกษา แต่ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยได้รับรางวัลเหรียญทองจากงาน World Invention Creativity Olympics & Conference ปี 2024 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดโดย Korea University Invention Association และ World Invention Intellectual Property Association

Virtual StudioLab คืออะไร Virtual StudioLab คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ออกแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบไตร่ตรองและบูรณาการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ 6 ขั้นตอนที่ประกอบด้วยการค้นหาปัญหา การออกแบบ การพัฒนา และการนำเสนอผลงาน โดยผู้เรียนจะมีโอกาสทดลอง สร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและยืดหยุ่น

จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้ คือการใช้ STEAM tools (Science, Technology, Engineering, Arts, Mathematics) เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น การใช้โปรแกรม 3D และแพลตฟอร์ม metaverse เพื่อแก้ปัญหาจริง เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือการวางแผนผังเมือง

ประสบการณ์จริงในห้องเรียน คุณกุลชญาได้นำ Virtual StudioLab ไปทดลองใช้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เป็นระยะเวลาหนึ่งภาคเรียน พบว่าผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาเสริมในแพลตฟอร์มเอง เช่น เกมสร้างเมืองที่ใช้ในการวางแผนจัดการพื้นที่ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มในการกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน

ทั้งนี้ 6 ขั้นตอนการเรียนรู้บน Virtual StudioLab ประกอบด้วย 1.Situation (สถานการณ์): เริ่มจากการนำผู้เรียนเข้าสู่สถานการณ์จริงผ่านเว็บแอปพลิเคชัน Studio Lab 2.Task (ภาระงาน): การค้นหาและกำหนดปัญหาโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ 3.Uniqueness (ความเฉพาะตัว): การวางแผนและออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 4.Design (การออกแบบ): ใช้ STEAM tools เพื่อพัฒนาผลงานที่มีคุณค่า 5.Illustration (การพัฒนา): สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาในชีวิตจริง 6.Open-minded (เปิดกว้าง): นำเสนอและปรับปรุงผลงานจากคำแนะนำของเพื่อนและครู

ผลลัพธ์และการพัฒนาต่อยอด Virtual StudioLab ช่วยพัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับ feedback อย่างต่อเนื่องและปรับปรุงผลงานจนมีความสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ คุณกุลชญามีแผนที่จะขยายการใช้งาน Virtual StudioLab ไปยังวิชาอื่น ๆ และสร้างชุมชนความร่วมมือด้าน STEAM เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างยั่งยืนด้วย ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Virtual StudioLab ได้ที่เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย