บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion โชว์ความสำเร็จโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ปีที่ 13 ผ่านกิจการ “คนทะเล” หนึ่งใน 3 สุดยอดโมเดลกิจการเพื่อสังคมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ หลังใช้ “แพคเกจท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้าน” เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนคนรุ่นใหม่ เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้าน พร้อมต่อยอดสร้างบ้านปลาแบบออร์แกนิคที่แรกของไทย ดึงสัตว์น้ำกลับชุมชนมากกว่า 3 เท่า

 คุณรัฐพล สุคันธี

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  “‘คนทะเล’ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างโมเดลกิจการเพื่อสังคมที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยนำวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม บ้านปูเห็นถึงศักยภาพของ “คนทะเล” ที่สามารถนำองค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ BC4C ไปปรับใช้ จนเกิดเป็นโมเดลกิจการที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์ราคาที่สะท้อนถึงโครงสร้างต้นทุน ศึกษาโมเดลธุรกิจของคู่แข่งในพื้นที่ มีการเลือกใช้แผนการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของกิจการ และสามารถกระจายรายให้กับผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของบ้านปูที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกไปพร้อมธุรกิจที่แข็งแกร่ง”

คุณรัฐพล สุคันธี และ คุณสุนิตย์ เชรษฐา

BC4C ปีที่ 13 มาพร้อมแนวคิด“Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการเพื่อสังคมในท้องถิ่นเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง เช่นเดียวกับแนวคิดของ “คนทะเล” ในชุมชนบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีเป้าหมายพัฒนาอาชีพประมงเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับคนในชุมชน พร้อมกับฟื้นคืนทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี

 สองพี่น้อง ผู้ประกอบการ กิจการคนทะเล

นายกิตติเดช เทศแย้ม ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม “คนทะเล” เปิดเผยถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญของชุมชนบ้านทุ่งน้อยว่า “เรามองเห็นปัญหาสัตว์น้ำในทะเลหน้าบ้านของเราที่ลดลงเกือบ 80% นับตั้งแต่ปี 2554- 2563 ซึ่งกระทบต่อรายได้ของชาวประมงโดยตรง โครงการ BC4C ทำให้เราได้องค์ความรู้และทุนตั้งต้นสำหรับทดลองตลาดธุรกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้าน เพื่อมาสร้างรายได้ทดแทนการทำประมงเชิงพาณิชย์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมกัน สิ่งที่ภูมิใจคือเราริเริ่มทำบ้านปลาออร์แกนิค 100% ที่แรกของไทย ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในชุมชนถึง3 เท่า หรือราว 20-50 กิโลกรัมต่อวัน (จากเดิม 15 กิโลกรัม) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวประมงและชุมชนบ้านทุ่งน้อย”

ปัจจุบันธุรกิจ ‘คนทะเล’ จึงมีทั้งจำหน่ายอาหารทะเลที่ “ปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลีน” จากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ทำประมงแบบรับผิดชอบ และบริการท่องเที่ยววิถีประมงยั่งยืน ที่จะสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ผ่านกิจกรรมของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันของทั้งสองธุรกิจ

เครื่องมือประมงพื้นบ้าน และขั้นตอนการปล่อยบ้านปลา (ซั้งกอ)

ด้าน นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า “เราเชื่อมั่นว่ากิจการเพื่อสังคมในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการสร้างอิมแพคในภาพรวมของประเทศ เช่น ‘คนทะเล’ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร และผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังสร้างอิมแพคในระดับประเทศ ทั้งในมิติการท่องเที่ยว ระบบนิเวศทางทะเล และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/banpuchampions/