สื่อมาเลเซียแพร่ข่าว นายกฯอันวาร์ ทาบทามทักษิณ เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนรับตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียนในปีหน้า "โรม"จับตา ปปช.สางคดีจนท.รัฐเอื้อเทวดาชั้น 14 ตอก "ทักษิณ" แย่งลูก "อิ๊งค์" เป็นนายกฯ ทำลายเครดิตรัฐบาล
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 เว็บไซต์ข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย รายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ทาบทามให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัว เพื่อนำประสบการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมาช่วยเหลือประเทศมาเลเซียที่จะรับตำแหน่งประธานกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า
นายอันวาร์ กล่าวว่า บทบาทของนายทักษิณระหว่างดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัวในด้านอาเซียน จะเป็นในลักษณะไม่เป็นทางการ ซึ่งนายทักษิณได้ตอบตกลงแล้ว โดยมีที่ปรึกษาจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนร่วมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ นายอันวาร์ได้ประกาศเรื่องนี้ระหว่างการเยือนประเทศมาเลเซียของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุตรสาวของทักษิณ ขณะที่นายทักษิณวัย 75 ปี เป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันถูกห้ามเล่นการเมือง หลังศาลตัดสินว่ามีความผิดจากการใช้อำนาจในทางที่ผิดและผลประโยชน์ทับซ้อน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตั้งนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในโอกาสดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2568 จะส่งผลต่อการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ให้คืบหน้าขึ้นหรือไม่ ว่า ต้องถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนายอันวาร์ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และเป็นเรื่องส่วนตัวนายทักษิณเช่นกัน ซึ่งนายทักษิณเป็นบุคคลสำคัญในระดับโลก ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของนายอันวาร์เท่านั้น แต่เป็นที่ปรึกษาอีกหลายประเทศ เนื่องจากประสบการณ์ความสามารถที่แก้ไขปัญหาให้ประเทศไทยจนบรรลุผลและต่างประเทศยอมรับ จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศอยากได้รับคำปรึกษา
ส่วนรัฐบาลไทย เห็นว่าการที่นายทักษิณที่เป็นคนไทย รักชาติไทย เมื่อไปเป็นที่ปรึกษาอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาระหว่างสองประเทศในพื้นที่ประสบความสำเร็จได้ดีขึ้นในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ส่วนจะมากหรือน้อยยังตอบแทนในเรื่องอนาคตไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยจะให้นายทักษิณเป็นที่ปรึกษาบ้างหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายทักษิณเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมากอยู่แล้ว การจะเป็นที่ปรึกษาทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่อนุญาตให้มีบทบาทได้ หากกฎหมายให้เป็นที่ปรึกษาได้ไม่มีปัญหา เราก็อยากรับฟังอยู่แล้ว เพราะมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา และจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของประเทศ ทั้งนี้ยังไม่ได้ดูข้อกฎหมายโดยละเอียดว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีความผูกพันกับนายทักษิณ ที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และในฐานะที่เราเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่ามีความสำเร็จอย่างดี ถ้าไม่มีปัญหาเราก็อยากรับฟัง
นายภูมิธรรม กล่าวว่า แต่เวลานี้มีดราม่าเรื่องครอบงำเยอะ ขนาดยังไม่ทำอะไรยังมีปัญหาเยอะ จึงต้องดูให้ดี ความเห็นนายทักษิณที่แสดงผ่านสาธารณะรับฟังได้อยู่แล้ว ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น หรือใครก็ตามจะหยิบเอาข้อคิดเห็นไปใช้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งหมดเช่น การจัดสัมมนาสส.พรรคเพื่อไทย ที่หัวหิน ได้เรียนเชิญนายทักษิณไปให้ความรู้และความเห็นต่อสถานการณ์ สากลและผลกระทบที่เกิดขึ้นในเอเชีย และประเทศไทย จึงไม่ต้องมีรูปแบบในการตั้งอะไรเพราะนายทักษิณ แสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอ และเรานำสิ่งที่เห็นด้วยมาทำงานได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะชี้แจงอย่างไร หากบางประเทศในอาเซียนมองว่าบทบาทที่ปรึกษาประธานอาเซียน 2568 ของนายทักษิณ อาจเป็นการเข้าไปแทรกแซง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่มีอะไรไปแทรกแซง และคำว่าครอบงำกับแทรกแซงควรต้องคิดพิจารณาอย่างเข้าใจใหม่ สมมุติว่าประเทศในอาเซียนเชิญใครเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นสิทธิของประเทศนั้นที่จะดำเนินกิจการภายใน
ส่วนความเห็นก็เป็นสิทธิของผู้นำประเทศที่จะแสดงความคิดเห็นซึ่งนำมาจากใครก็ได้ จึงไม่เรื่องครอบงำหรือผู้นำอาเซียนจะรู้สึกอย่างไรเป็นเรื่องที่คิดกันไปเอง และคิดไปแบบนี้เดี๋ยวดราม่าจะเกิด เวลานี้ไม่มีปัญหาอะไรและผู้นำอาเซียนต่างๆที่เจอและคุยกัน ได้คุยกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่สปป.ลาว ก็ไม่มีปัญหาและในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ จะเดินทางไปเวียดนาม คิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ และไม่เคยอยู่ในประเด็นที่ตั้งเป็นคำถามจะต้องมาคุยกัน เพราะส่วนใหญ่จะคุยเรื่องความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็น และคิดว่าประเทศในอาเซียนคิดแตกต่างจากที่สื่อตั้งคำถาม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกัน ว่า การแต่งตั้งให้นายทักษิณเป็นที่ปรึกษา ไม่น่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาคใต้ แต่น่าจะเป็นเพราะนายอันวาร์เห็นคุณค่าและศักยภาพ โดยเฉพาะขณะนี้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ เพราะถือเป็นศักยภาพของโลก ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร และความหลากหลาย และภาคใต้ก็เป็นจุดหนึ่งที่รัฐบาลต้องพัฒนาและยกระดับความสำคัญ เพื่อให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งต่างๆ เป็นพลวัตที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม และคงหนีไม่พ้นเรื่องการให้ความยุติธรรม การเยียวยา รวมถึงการฟื้นฟูและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อดีตถือเป็นบทเรียนที่ดี ปัจจุบันและอนาคต เป็นความรับผิดชอบของทุกคนร่วมกัน ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญ
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่ม BRN ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เขาอยากให้มีการพูดคุย ซึ่งเป็นเรื่องนโยบาย เราก็ทำอยู่ แต่เราคงไม่ไปอยู่ใต้ใคร ซึ่งรัฐบาลก็มีทิศทาง ทั้งนี้ หากมีการพูดคุย ควรเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมพูดคุย การรับฟังประชาชนถือว่าสำคัญที่สุด
ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องแก้ด้วยรัฐศาสตร์ และการกระจายอำนาจ ซึ่งการพูดคุยก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง สุดท้ายอยู่ที่การบริหาร และการคุ้มครองประชาชน
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ถ้า ป.ป.ช.มาเป็นองค์คณะไต่สวน ก็หวังว่าเรื่องนี้จะมีคำตอบต่อสังคมโดยเร็ว ตนคิดว่ามาถึงวันนี้ ทั้งอากัปกิริยาและการให้ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐในหลายอย่างค่อนข้างชัดเจนว่ากรณีชั้น 14 ไม่ปกติแน่ๆ คนที่ติดตามข่าวการเมืองมาจะทราบว่าเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เราจะเห็นว่าถ้าเรื่องไหนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ความร่วมมือ แต่ทำไมเรื่องชั้น 14 จะพบว่าเอกสารและข้อมูลหลายอย่างมีความยาก เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ มีบางอย่างที่ถูกปิดซ่อนอยู่ แต่วันนี้สังคมอาจจะเดาไปต่างๆนานา รู้กันอยู่แล้วว่ามีประมาณไหน อย่างไร แต่สุดท้าย สิ่งที่ยังขาดอยู่ในช่วงที่ผ่านมาคือการที่จะเอาความจริงทั้งหมดมาเปิดเผย และการระบุว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร มีความผิดตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะยังไม่ปรากฎออกมาชัดเจนมากนัก
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าป.ป.ช. มีอำนาจมากกว่า กมธ.ต่างๆเยอะ ถ้าสมมติมีความชัดเจนตรงนี้ ตนคิดว่า ก็คงจะสร้างความกระจ่างได้ ตนในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้ ก็รอดูว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร ตนยืนยันว่าบรรดาข้าราชการทั้งหลายที่เป็นข้าราชการน้ำดี ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใครก็ตามที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สามารถส่งมาที่ตนได้เราก็ยินดีที่จะทำหน้าที่ต่อไป และข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตนก็ยินดีที่จะมอบข้อมูลเหล่านี้ให้ ป.ป.ช.ต่อ เพราะมีหลายเรื่องที่เราส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปให้แล้ว
เมื่อถามว่า การที่ ป.ป.ช.นำขึ้นมาพิจารณาช่วงนี้ มีนัยะอะไรหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากรณีนายทักษิณมีคนร้องเรียน และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อมูลทางการแพทย์ก็มากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน รวมไปถึงการให้ความร่วมมือของส่วนราชการที่มีพิรุธด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตนเชื่อว่า มีส่วนที่ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบจำเป็นต้องทำอะไร เพราะถ้าเรื่องของนายทักษิณไม่มีความกระจ่างอะไร มันยังดำมืดอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามหน่วยงานแรก คือหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ
เมื่อถามว่า มีข้อกังวลถึงกรอบระยะเวลาการพิจารณาของ ป.ป.ช. หรือไม่ เนื่องจากคดีหนึ่งจะใช้เวลาหลายปี นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนก็เป็นหนึ่งในคนที่ร้องไปยัง ป.ป.ช.หลายเรื่อง ตนทราบดีว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช. ค่อนข้างใช้เวลา แต่หากเป็นเรื่องของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลก็อาจจะเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ ป.ป.ช. มีกรอบเวลาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะต้องติดตามเรื่องกรอบเวลาทำงานที่ใช้จะมากเท่าเดิมหรือไม่ และมีเหตุผลอะไร และหากเรื่องนี้กระจ่างแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาเต็มกรอบเวลา ตนเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว หากมีหลักฐานทั้งหมด โดยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ 1. นายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ 2.ที่ถูกส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลกระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 3.อยู่โรงพยาบาลจนครบ 180 วันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ4.เมื่ออยู่จนครบได้รับการพักโทษการประเมินต่างๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้ ป.ป.ช.จะกลายเป็นชนักติดหลัง เพื่อถือไพ่ทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือไม่นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเริ่มไม่แน่ใจใครมีอำนาจบ้าง และต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และมีโอกาสหลายอย่างที่จะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และการบริหารประเทศ ซึ่งเรื่องความไม่สง่างามกรณีนายทักษิณ ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะต้องมีเครดิตทางการเมือง แต่เมื่อเจอกรณีนายทักษิณ เครดิตทางการเมืองก็ถูกทำลายไป
"คุณทักษิณแย่งคุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ คุณทักษิณแสดงบทบาทความเป็นนายกฯ จนราวกับว่าคุณอุ๊งอิ๊งเป็นอะไร ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อผนวกรวมกันกับกรณีเรื่องชั้น 14 เครดิตของรัฐบาลหายไปเยอะ ทำให้รัฐบาลที่จะผลักดันในวาระต่างๆ ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ก็ยิ่งแย่ลงตามลำดับ ยังไม่นับว่ามีนโยบายหลายอย่างที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถทำให้เกิดตามที่สัญญาเอาไว้กับประชาชนได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำลายเครดิตของรัฐบาล ต้องยอมรับว่าวิกฤตทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปในคราวนี้ มันอาจจะมีองค์ประกอบอื่น แต่องค์ประกอบไม่น้อย ก่อโดยพรรคเพื่อไทยเอง"