คิกออฟวันแรก “โอนเงิน” โครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทคึกคัก “ธ.ก.ส.” เผยกดปุ่มโอนเงินให้ชาวนาทั่วประเทศแล้ว 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 37,414 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.67 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการโอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ เป็นวันแรก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว และสนับสนุนให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้มากขึ้น โดยวางแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกรเป็นรายภูมิภาค จำนวน 5 รอบ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ธันวาคม 2567 ตั้งเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 37,414 ล้านบาท โดยมีนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และผู้บริหาร ธ.ก.ส. ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 


ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง หรือข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชี ผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call Center 02-555-0555


ด้าน นายดำรงเกียรติ ทองเครือมา และนางนับภร วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดพิจิตร ร่วมให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยบรรยากาศที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาพิจิตร มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมารอเบิกถอนเงินอย่างคึกคัก หลังจากได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ สนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินให้เกษตรกรเป็นรายภูมิภาค จำนวน 5 รอบ เริ่มวันนี้ (16 ธ.ค.67) เป็นวันแรก และต่อเนื่องถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือ ต่างบอกว่า ดีใจที่รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนการทำนาให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ช่วยให้มีเงินทุนในการทำการเกษตร และบางส่วนจะแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไปใช้หนี้