“ปภ.”เผย 5 จังหวัดใต้ เซ่นน้ำท่วม 8 ราย กระทบ 1.2 แสนครัวเรือน “เมืองคอน” อ่วม น้ำท่วมฉับพลัน “ชาวบ้าน” ถูกไฟดูดเสียชีวิต 1 ราย “อนุทิน-ซาบีดา” ลงพื้นที่ “เมืองคอน-สุราษฏร์” ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ ด้าน“ภูมิธรรม” ย้ำน้ำท่วมใต้ เตรียมการไว้พร้อมรับภัยธรรมชาติ คาดเดายาก ยันมีงบฯ พร้อมช่วยเหลือ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.67 นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศปช. ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคใต้ ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมแล้ว หลังจากประกาศเตือนสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 16- 22 ธ.ค.นี้ ว่าเป็นช่วงฝนตกหนัก ก่อนหน้านี้รอบแรกน้ำลดลงและเตรียมถอนกำลังแต่เมื่อทราบถึงฝนระลอกสอง จึงสั่งตรึงกำลังในพื้นที่ไว้ โดยสั่งทหารช่างให้ไปอยู่ในพื้นที่จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และระนอง ไปตรวจสอบพื้นที่บ้างว่าต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้างโดยดูตัวอย่างจากภาคเหนือมาปรับใช้ ส่วนทหารพัฒนา ยังดำเนินการอยู่ในพื้นที่
“น้ำมาแรงเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ถือเป็นภัยคุกคามใหม่ ที่ต้องนำมาพิจารณาเวลาพูดถึงภัยคุกคามไม่ใช่แค่ภายนอกประเทศ หรือยาเสพติดแต่ต้องมองทุกมิติ ซึ่งน้ำท่วมภาคใต้เป็นปัญหา ที่เตรียมการไว้แล้ว และยอมรับว่าภัยธรรมชาติแก้ปัญหายาก เพราะโลกเปลี่ยน สำหรับงบประมาณที่จะนำไปใช้เยียวยาได้เตรียมไว้แล้ว”
ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง(ยผ.) น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ที่ทวีความรุนแรงว่า รัฐบาลมีความห่วงใยการเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะ เหตุอุทกภัย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลประชาชน ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้มีการสั่งงานอย่างครอบคลุมและให้รายงานสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้หน่วยงานส่วนกลางส่งความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ส่วนในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และตน เตรียมลงพื้นจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี เพื่อติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยความห่วงใยประชาชน จะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายพร้อมเยียวยาประชาชน และที่สำคัญไปให้ขวัญกำลังใจ พร้อมย้ำต้องดูแลให้ครบทุกด้าน ทางพื้นที่ประสบปัญหาอะไรบ้างอย่างเร่งด่วน ขณะที่เหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ต.วัดประดู่ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต ต้องดูแลให้ครอบคลุม ไม่จำเป็นต้องดูเรื่องไหนเป็นพิเศษ แต่ต้องดูให้ครบทุกเรื่อง
วันเดียวกัน นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช รายงานเหตุการณ์เศร้าสลดในพื้นที่ หลังได้รับแจ้งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากนคร และนายกเทศมนตรีตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยเหตุเกิดบริเวณสะพานระหว่างตำบลปากนครกับตำบลท่าไร่ สาเหตุเกิดจากผู้เสียชีวิตถูกกระแสไฟฟ้าดูดท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบข้อมูลชื่อ-สกุลและที่อยู่ของผู้เสียชีวิต โดยทางอำเภอได้ประสานพนักงานสอบสวนเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางและการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าท่ามกลางน้ำท่วม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีก
ส่วน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 16 ธ.ค. เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 107 อำเภอ 702 ตำบล 5,050 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 737,091 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 35 ราย ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 47 อำเภอ 274 ตำบล 1,998 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 128,035 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย
โดยที่จ. นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 21 อำเภอ ได้แก่ อ.ขนอม อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ฉวาง อ.เมือง อ.ลานสกา อ.ช้างกลาง อ.พระพรหม อ.ปากพนัง อ.นาบอน อ.ร่อนพิบูลย์ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งสง อ.เชียรใหญ่ อ.จุฬาภรณ์ อ.หัวไทร อ.บางขัน และ อ.ชะอวด รวม 130 ตำบล 1,056 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 107,937 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำเพิ่มขึ้น, พัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน อ.ศรีบรรพต อ.เมือง อ.ศรีนรินทร์ อ.เขาชัยสน และอ.กงหรา รวม 28 ตำบล 130 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,024 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันคลองนาท่อมระดับน้ำลดลง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้กระจายกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 เข้าช่วยเหลือในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง รวมถึงทีม ปภ.ส่วนหน้ายังคงคิดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ปภ.ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เร่งประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป